วันอาสาฬหบูชา พระธรรมเทศนาหลวงพ่อพระราชพรหมย​าน วัดท่าซุง

Spread the love

วันอาสาฬหบูชา
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
แสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”
โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ และท่านโกณทัญญะ
ได้บรรลุพระโสดาบันเป็นปฐมสาวก

พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
เนื่องในวันอาสาฬหบูชา

สำหรับใจความจริง ๆ ใน “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”
ความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระจอมไตร
ก็หมายเอา “อริยสัจ” คือว่า อริยสัจนี้องค์สมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสก็หมายถึง
เป็นเรื่องของความจริง

คำว่า “อริยะ” นี่เขาแปลว่า บริสุทธิ์ผุดผ่อง
“อริยสัจ” หมายถึง เราทรงความจริงที่เราเข้าถึง
ความบริสุทธิ์ทางใจ เรื่องของกายแต่ละคน
หาความบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะกายมันสกปรก
ความบริสุทธิ์จริง ๆ มันต้องเป็นความบริสุทธิ์ทางใจ

ความบริสุทธิ์ทางใจ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัส
ในวันนั้นว่า โดยย่อท่าน บอกว่า “จงละตัณหา ๓ ประการ”
ตัณหา แปลว่า ความอยาก

๑.สิ่งที่ยังไม่มี อยากให้มีขึ้นเรียกว่า “กามตัณหา”
กาม เขาแปลว่า ความใคร่ ตัณหา แปลว่า อยากใคร่
อยากจะได้

๒.สิ่งที่มีอยู่แล้ว อยากให้ทรงตัวอย่างนั้นไม่มีการ
เปลี่ยนแปลง อย่างนั้นเรียกว่า “ภวตัณหา”

๓.สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไป มันจะต้องแตก มันจะต้องตาย
มันจะต้องพัง เราไปนั่งภาวนา บนบานสานกล่าว ขออย่า
ให้แตก ให้ตาย ให้พังเลย ทรงอยู่อย่างนี้ อย่างนี้ท่าน
เรียกว่า “วิภวตัณหา”

ได้ทรงแนะนำบรรดาปัญจวัคคีย์ฤๅษีทั้ง ๕ ว่า

“เธอทั้งหลาย จงพยายามละตัณหาทั้ง ๓ คือ
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ด้วยอำนาจ
ของอริยสัจ คือรู้ตามความเป็นจริง จงพิจารณาว่า
ร่างกายของคนก็ดีของสัตว์ก็ดี

ที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ร่างกายของเราจริง มันเป็นเรือนร่าง
ที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น
มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และมีการสลายตัว
ไปในที่สุด ในเมื่อเธอทั้งหลายวางภาระนี้เสียได้
เธอก็จะพ้นจากความทุกข์ คือเป็นพระอริยเจ้า
เข้าพระนิพพาน”

เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงเทศน์จบ ปรากฏว่า
ท่านโกณฑัญญะเป็นโสดาบัน เป็นเหตุให้องค์สมเด็จ
พระพิชิตมารดีพระทัยมาก จึงได้เปล่งอุทานวาจาว่า
“อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ
โกณฑัญโญ” คำว่า “อัญญาสิ” นี่แปลว่า “รู้แล้ว”
ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ”

พระองค์ดีใจมาก เพราะเทศน์กัณฑ์แรกมีคนบรรลุมรรคผล
แม้แต่เบื้องต้น เป็นอันว่าคำว่า “อัญญา” ต่อหน้าคำว่า
“โกณฑัญญะ” เฉย ๆ มีมาตั้งแต่วันนั้น

ท่านโกณฑัญญะท่านฟังอะไร ฟังยังไงจึงได้พระโสดาบัน
อันนี้ฟังยังไง ไม่ต้องว่าไปถึง ว่าไปสามเดือนมันก็ยังไม่จบ
มาว่ากันถึงอารมณ์ อารมณ์จิต เวลานั้นของท่านตั้งยังไง
ที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงตัณหา ๓ ประการ ให้วางตัณหา
ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ซึ่งเรียกกันว่าอริยสัจ

อันดับต้น ท่านอัญญาโกณฑัญญะมีความเคารพใน
พระพุทธเจ้าจริง มีความเคารพในพระธรรมจริง เวลานั้น
ยังไม่มีพระสงฆ์ มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระธรรมเข้าถึง
ไตรสรณคมน์ ๒ ประการ

แล้วหลังจากนั้นท่านอัญญาโกณฑัญญะไม่มีความสงสัย
ในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่องของศีล ท่านออกบวชมานาน ทรงศีลบริสุทธิ์

จิตยึดมั่นที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าถึงนิพพานเมื่อไร
นิพพานเป็นแดนเอกันตบรมสุข เป็นสุขอย่างยิ่งไม่มี
การเคลื่อน ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ไปไหน ท่านผูกใจ
ในพระนิพพาน จึงเป็นพระโสดาบัน

สรุปความง่าย ๆ ก็เรียกว่า การที่เป็นพระโสดาบัน
ของท่านอัญญาโกณฑัญญะ หรือของบรรดาท่าน
พุทธบริษัทก็เช่นเดียวกัน เขาเป็นกันอย่างนี้ อารมณ์จริง ๆ
เป็นง่าย คือ

๑.มีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง เคารพในพระธรรมจริง
เคารพในพระอริยสงฆ์จริง

๒.ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์

๓.จิตคิดไว้เสมอว่า ถ้าตายชาตินี้เราไม่ไปไหนนอกจาก
นิพพาน เราไม่ต้องการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหม
เราต้องการนิพพานอย่างเดียว