สมาคมแพทย์รวมตัวแถลงยัน สเต็มเซลล์ยังไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ชะลอความเสื่อมของอวัยวะไม่ได้
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มีการแถลงข่าวเรื่อง “แนวคิดการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคทางอายุรกรรม” ร่วมกับสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาทวิทยา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เซลล์ต้นกำเนิด(สเต็มเซลล์) ในการรักษาผู้ป่วยว่า ยังไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ และไม่สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของอวัยวะได้
ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ผู้รั้งตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า
สเต็มเซลล์ คือเซลล์ที่ตัวอ่อนที่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ตัวแก่ เพื่อให้อวัยวะนั้นทำงานได้ตามปกติ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถแบ่งตัวทำให้เกิดเซลล์ใหม่ได้ไม่จำกัด ทำให้เซลล์ไม่หมดไปจากร่างกาย จึงกลายเป็นความหวังใหม่ทางการแพทย์ แต่การใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย ไม่ถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับผู้ป่วย ยกเว้นโรคทางระบบโลหิต 5 กลุ่มโรคเท่านั้น ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งมัยติเพิลอิโลมา และโรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซีเมีย
ด้าน ผศ.นพ.ดร.นิพัญจน์ อิศรเสนา ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์ แพทยสภา กล่าวว่า
สเต็มเซลล์มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน สเต็มจากอวัยวะหนึ่งไม่สามารถสร้างเซลล์ของอวัยวะหนึ่งได้ ทั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าเซลล์สามารถรักษาโรคอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การชะลอความเสื่อมสภาพของอวัยวะในผู้ป่วยหรือบุคคลปกติได้
“สเต็มเซลล์เก็บจากรกของมนุษย์เพื่อนำมารักษาโรคนั้นสามารถทำได้จริง แต่โอกาสน้อยมากที่จะนำออกใช้ เนื่องจากสเต็มเซลล์ไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดภายในตัวเองหรือโรคที่เกิดจากพันธุกรรมได้ จะใช้ได้ในการรักษาโรคในญาติพี่น้องที่สเต็มเซลล์สามารถเข้ากันได้เท่านั้น” ผศ.นพ.ดร.นิพัญจน์ กล่าว.