ครั้งหนึ่งหลวงพ่อพุธไปเพ่งต้นมะพร้าวให้มันหัก เพ่งกิ่งพะยอมนั่นมันหัก ก็ในขณะที่เพ่งดูนี้ เราก็ไม่ได้ใช้พลังจิตอะไรทั้งนั้นแหละ เพียงแต่นึกว่าต้นมะพร้าวต้นนี้น่ะ มันบังหน้าจั่วศาลา มองไม่เห็นเทพพนม เทวดาช่วยตัดออกให้ด้วย พอเสร็จแล้ว โอ้ย ! มันจะหักทับหัว ก็เดินหนีไป พอไปพ้น พอเดินไปห่างจากที่ยืนอยู่นี้ ประมาณสัก ๒ วาเศษๆ ต้นมะพร้าวมันก็หักลงมาทับ ตรงทะลายมัน ทะลายผลมะพร้าวทับตรงที่ยืน รอยเท้ายืนพอดี
ครั้งที่ ๒ ยายพวงไปได้กลด ซึ่งเป็นมรดกของหลวงปู่พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) วัดทุ่งศรีเมืองมา ก็เอามาให้ ทีนี้เราก็ชื่นชมยินดีกับมรดกของครูบาอาจารย์ ก็เอากลดไปห้อยกิ่งพะยอม ไปนั่งสมาธิอยู่ นั่งอยู่ได้ประมาณชั่วโมงเศษๆ พอเลิกนั่งสมาธิ มองดูกลด โอ้ย ! กิ่งพะยอมมันจะหัก ก็หุบเอากลดแล้วก็เดินขึ้นบนกุฏิ ซึ่งมันอยู่ห่างกันประมาณ ๔-๕ วา พอไปเหยียบบันไดขั้นแรก กิ่งพะยอมก็หักโครมลงมา
หลวงปู่ฝั้นท่านตำหนิ ท่านว่า “พระอะไรไปเที่ยวหาหักกิ่งไม้”
“เอ้า นึกเฉยๆ มันจะเป็นอาบัติอยู่หรือ”
“มันก็เป็นน่ะชิ มันมีเจตนา”
นึกให้ต้นมะพร้าวมันหัก มันก็หัก นึกให้กิ่งพะยอมหักมันก็หัก อภินิหารของการปฏิบัติธรรมนี่ เวลามันเกิดมันน่าหลงจริงๆ นะ นอกจากมันจะเกิดอะไรแปลกๆ ขึ้นมาให้เราหลงมัน
หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดการเพ่งกสิณ จนกิ่งไม้หักของหลวงพ่อพุธ ทำไมถึงอาบัติได้ เรื่องนี้ “พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล” ได้อธิบายไว้ว่า ดังนี้ …
การพรากของเขียว เช่น ตัดต้นไม้ เป็นสิ่งที่ภิกษุไม่พึงกระทำ เพราะเป็นอาบัติ ดังมีบัญญัติว่า “ภิกษุพรากของเขียว ซึ่งอยู่กับที่ ให้หลุดจากที่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์” สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติอาบัติข้อนี้เนื่องจากครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง จึงขุดดินบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นขุดบ้าง ชาวบ้านเห็นก็ติเตียนว่าผิดประเพณีนิยมของสมณะ เป็นไปได้ว่าพระพุทธองค์ไม่ประสงค์จะให้ภิกษุทำผิดประเพณีของท้องถิ่น อันจะเป็นเหตุให้ผู้คนเสื่อมศรัทธาในภิกษุสงฆ์ จึงทรงสั่งห้ามภิกษุตัดต้นไม้ จริงอยู่ในบางท้องถิ่น (เช่น ในเมืองไทย) ไม่มีประเพณีหรือความเชื่อดังกล่าว แต่เมื่อยังไม่มีการเพิกถอนสิกขาบทข้อนี้ ก็ต้องถือว่า การพรากของเขียวเป็นอาบัติ ภิกษุไม่พึงกระทำ หากจำเป็นจะต้องมีการตัดต้นไม้ ก็พึงให้ฆราวาสเป็นผู้ดำเนินการ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ ฐานิยตเถรวัตถุ เนื่องในงาน พระราชทานเพลิง หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓