ว่าด้วยวิญญาณัฏฐีติ

Spread the love
กัณฑ์ที่ ๑๑
พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕,๐๐๐ กัณฑ์
คัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต


ว่าด้วยวิญญาณัฏฐีติเป็นต้น
(ฉบับ ส.ธรรมภักดี)




สตฺติมา ภิกฺขเว วิญฺญาณฏฺฐีติโยฯ กตมา สตฺต สนฺติ ภิกฺขเว สตฺตา นานตฺตกายา นานตฺตสญฺญิโนติ.

ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดง คัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต กัณฑ์ที่ ๑๑ ว่าด้วยวิญญาณัฏฐีติเป็นต้น สืบต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ตลอดกาลนานหาประมาณมิได้

บาลี

ดำเนินความตามวาระพระบาลี อันมีในพระสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๕ ปฐมถปัณณาสก์ คัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาตนั้นว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า วิญญาณัฏฐีติ คือที่ตั้งแห่งวิญญาณ มีอยู่ ๗ ประการ คือ สัตวโลกทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นมนุษย์และเทพเจ้าบางจำพวก วินิบาตบางจำพวก ๑ สัตว์ทั้งหลายมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกพรหมที่เกิดด้วยปฐมฌาน ๑ สัตว์ทั้งหลายมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญยาต่างกัน เช่นพวกเทพเจ้าชั้นอาภัสสรา ๑ สัตว์ทั้งหลายมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพเจ้าชั้นสุภกินหา ๑ สัตว์ทั้งหลายล่วงรูปสัญญา สิ้นปฏิฆสัญญา ไม่มีสัญญาต่างๆ อยู่ในใจ เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ว่าอากาศไม่มีที่สุด ๑ สัตว์ทั้งหลายล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ว่าวิญญาณไม่มีที่สุด ๑ สัตว์ทั้งหลายล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนะว่าไม่มีอะไร ๑ ดังนี้

อรรถกถา

ในอรรถกถาว่า ที่ตั้งแห่งปฏิสนธิวิญญาณ เรียกว่า วิญญาณัฏฐีติฯ ก็ในจักรวาลอันหาปริมาณมิได้ ย่อมมีมนุษย์หาปริมาณมิได้ แต่จะมีมนุษย์ซึ่งเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยวรรณะ สัณฐาน เป็นต้นไม่มี ถึงบุคคลเหล่าใดเป็นลูกแฝด มีวรรณะ สัณฐานอย่างเดียวกัน แต่บุคคลเหล่านัี้นก็ยังแปลกกัน ด้วยการแลเหลียว พูด ยิ้ม เดิน ยืน เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ามีกายต่างกัน ก็ปฏิสนธิสัญญาแห่งพวกนั้นเป็นไตรเหตุก็มี เป็นทุเหตุก็มี เป็นอเหตุก็มี เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ามีสัญญาต่างๆ กัน คำว่า เทพเจ้าบางเหล่านั้น หมายเทพเจ้าชั้นกามาวจรทั้ง ๖ ชั้น กายของเทพเจ้าเหล่านั้น มีสีเขียวก็มี มีสีเหลืองเป็นต้นก็มี สัญญาของเทพเจ้าเหล่านั้น เป็นทุเหตุก็มี เป็นไตรเหตุก็มี แต่ไม่เป็นอเหตุฯ คำว่า วินิบาตบางจำพวกนั้น ได้แก่พวกยักษ์ และพวเวมานิกเปรต ซึ่งมีสีกายขาวก็มี ดำก็มี เหลืองก็มี เป็นต้น มีกายผอมก็มี อ้วนก็มี ต่ำก็มี สูงก็มี มีสัญญาต่างกัน คือเป็นทุเหตุก็มี ไตรเหตุก็มี อเหตุก็มี เหมือนกับพวกมนุษย์ แต่ไม่มีศักดิ์มากเหมือนเทพเจ้า มีศักดิ์น้อยเหมือนคนกำพร้า มีเครื่องกิน เครื่องนุ่งห่มหาได้ยาก มีแต่ทุกข์บีบคั้น บางจำพวกได้รับทุกข์ในข้างแรม ได้รับสุขในข้างขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า วินิบาต เพราะพ้นจากความเกิดขึ้นแห่งสุข วินิบาตพวกใด เป็นไตรเหตุ วินิบาตพวกนั้นย่อมได้บรรลุธรรมเหมือนกับยักษิณีที่เป็นมารดาของปิยังกระเป็นต้น

คำว่า พวกพรหมนั้น หมายพวกพรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตมหาพรหม ซึ่งเกิดด้วยปฐมฌาน ส่วนพรหมปาริสัชชา มีประมาณอายุเท่าส่วนที่ ๓ แห่งกัลป์ พรหมปุโรหิต มีประมาณกึ่งกัลป์ มหาพรหมมีอายุ ๑ กัลป์ พรหมปาริสัชชามีร่างกายเล็ก พรหมปุโรหิตมีร่างกายปานกลาง มหาพรหมมีร่างกายใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงว่า พรหมเหล่านั้นมีกายต่างกัน มีสัญยาอย่างเดียวกัน คือได้ปฐมฌานเหมือนกัน สัตว์ทั้งหลายในอบายภูมิ ๔ ก็เหมือนกับพวกพรหม เพราะว่าพวกสัตว์นรกบางจำพวก มีตัวสูง ๑ คาวุตก็มี กึ่งโยชน์ก็มี โยชน์หนึ่งก็มี ส่วนพระเทวทัตมีกายสูง ๑๐๐ โยชน์ฯ สำหรับพวกดิรัจฉานนั้น มีร่างกายเล็กก็มี ใหญ่ก็มี พวกเปรตวิสัย มีร่างกายสูง ๖๐ ศอกก็มี ๘๐ ศอก ก็มี ผิวพรรณดีก็มี ผิวพรรณไม่ดีก็มี เช่นพวกกาลกัญชิกาสูร สัญญาของพวกอบายทั้งสิ้น เป็นวิบากแห่งอกุศล เป็นอเหตุ เพราะฉะนั้นพวกอบายทั้งสิ้น จึงเรียกว่ามีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน

คำว่า พวกเทพเจ้าชั้นอาภัสสรานั้น ได้แก่พวกเทพเจ้าที่มีรัศมีแผ่ซ่านออกจากกาย เหมือนกับออกจากกายเทพเจ้า จำพวกอาภัสสรานั้นแบ่งออกเป็น ๓ คือพวกเจริญฌานได้น้อย มีรัศมีน้อย เรียกว่าพวกปริตตาภา ซึ่งมีอายุเพียง ๒ กัลป์พวกหนึ่ง พวกเจริญฌานได้พอปานกลาง ชื่อว่า พวกอัปมาณาภา ซึ่งมีอายุ ๔ กัปล์จำพวกหนึ่ง พวกเจริญฌานได้อย่างดี ชื่อว่าพวกอาภัสสรา ซึ่งมีอายุได้ ๙ กัลป์จำพวกหนึ่ง ทั้ง ๓ จำพวกนั้น มีกายใหญ่เหมือนกัน แต่สัญญาต่างกัน คือไม่มีวิตก มีแต่เพียงวิจารก็มี ไม่มีทั้งวิตกวิจารก็มี

คำว่า สุภกินหา แปลว่า ผู้เกลื่อนกล่นด้วยความงาม คือผู้มีรัศมีเป็นแท่งอันเดียวกัน พวกนั้นเมื่อได้ได้สำเร็จจตุตถฌาน แต่เจริญจตุตถฌานได้น้อยก็มี ปานกลางก็มี ประณีตก็มี พวกเจริญได้น้อย ชื่อว่าปริตตสุภกินหา มีอายุได้ ๑๖ กัลป์ พวกเจริญได้พอปานกลาง ชื่อว่า อัปมาณาสุกิณหา มีอายุได้ ๓๒ กัลป์ พวกเจริญได้อย่างประณีต ชื่อว่า สุภกินหา มีอายุได้ ๖๔ กัลป์ ทั้ง ๓ จำพวกนั้น มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือมีสัญญาในจตุตถฌานเหมือนกัน

พวกเวหัปผลา จัดเข้าในวิญญาณัฏฐีติที่ ๔ พวกอสัญญีสัตว์ไม่จัดเข้าในวิญญาณัฏฐีติ เพราะไม่มีวิญญาณ แต่จัดเข้าในสัตตาวาส พวกอยู่ในชั้นสุทธาวาส จัดเข้าในฝ่ายวิวัฏฏะ พวกนี้ไม่มีผู้เสมอ เมื่อโลกว่างพระพุทธเจ้า ตั้งพันกัลป์ก็ดี ตั้งอสงไขยก็ดี พวกนี้ก็ไม่เกิด เมื่อมีพระพุทธเจ้าเกิด ในภายในหมื่น ๖ พันกัลป์จึงเกิด พวกนี้คล้ายกับเป็นกองทัพของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นธรรมจักรพรรดิ เพราะฉะนั้น พวกสุทธาวาสนี้ จึงไม่นับเข้าในวิญญาณัฏฐีติ ไม่นับเข้าในสัตตาวาส แต่พระมหาศิวเถรเจ้ากล่าวว่า พรหมชั้นสุทธาวาสนับเข้าในวิญญาณัฏฐีติที่ ๔ และสัตตาวาสที่ ๔ ด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนสารีบุตร สัตตาวาสนั้น ไม่ใช่ของที่ได้ด้วยง่ายเลย เพราะสัตตาวาสนั้น เราไม่เคยได้อยู่ตลอดกาลนานถึงเพียงนี้ นอกจากพวกเทพเจ้าชั้นสุทธาวาส ดังนี้ ถ้อยคำของพระเถรเจ้าองค์นี้เป็นถ้อยคำที่มีผู้เห็นดีด้วยเพราะไม่มีใครค้านพระสูตรได้ ชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ชื่อว่ามีวิญญาณก็ไม่ใช่ ไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ เพราะมีแต่วิญญาณละเอียดฉันใด ชั้นสุทธาวาสก็มีแต่วิญญาณละเอียดฉันนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่กล่าวไว้ในวิญญาณัฏฐีติ ดังนี้ สิ้นเนื้อความในอรรถกถาเพียงเท่านี้


ธัมมัตถาธิบาย


ในอรรถาธิบายว่า วิญญาณัฏฐีตินั้น แปลว่าที่ตั้งอยู่แห่งวิญญาณ หมายปฏิสนธิวิญญาณ แจกออกไปเป็น ๗ สถาน คือมนุษย์และเทพเจ้าบางเหล่านิบาตบางเหล่า ซึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ๑ พวกพรหมซึ่งเกิดด้วยปฐมฌาน ที่มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ๑ พวกพรหมชั้นอาภัสสรา ที่มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญยาต่างกัน ๑ พวกพรหมชั้นสุภกินหา ซึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญยาอย่างเดียวกัน ๑ พวกพรหมชั้นอากาสานัญจายตนะ ๑ ชั้นวิญญาณัญจายตนะ ๑ ชั้นอากิญจัญญายตนะ ๑ วิญญาณย่อมตั้งอยู่ในสัตวโลก ๗ จำพวกนี้ ดังนี้

บาลี

ต่อนี้ไป เป็นเนื้อความในพระสูตรที่ ๒ ว่า บริขารแห่งสมาธิ มีอยู่ ๗ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ ความมีอารมณ์อันเดียวแห่งจิต ความห้อมล้อมแห่งจิตด้วยองค์ ๗ เรียกว่า อริยสมาธิ ที่มีอปุนิสัยที่มีบริขารดังนี้

ในพระสูตรรนี้ มีอรรถกถาว่า บริขารแห่งสมาธินั้นได้แก่สัมภาระแห่งมรรคสมาธิ ดังนี้

ธัมมัตถาธิบาย

ในอรรถาธิบายว่า คำว่า บริขารแห่งสมาธิ ซึ่งท่านว่าได้แก่สัมภาระแห่งมรรคสมาธินั้น คือได้แก่เครื่องปรุงแห่งมรรคสมาธิ เครื่องประกอบแห่งมรรคสมาธิ เครื่องตกแต่งแห่งมรรคสมาธินั้น ก็ได้แก่ธรรม ๗ ประการ คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมพันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ดังที่ว่าแล้วนั้น สมาธิใด มีเครื่องปรุง ๗ ประการนี้ สมาธินั้นเรียกว่าอริยสมาธิ ซึ่งมีอุปนิสัยคือมีที่อาศัยบ้าง เรียกอริยสมาธิ ซึ่งมีบริขารบ้าง ดังนี้

ในพระสูตรที่ ๓ ว่า ไฟมีอยู่ ๗ กอง คือ ไฟราคะ ๑ ไฟโทสะ ๑ ไฟโมหะ ๑ ไฟอาหุไนยะ ๑ ไฟคฤหบดี ๑ ไฟทักขิไนยะ ๑ ไฟไม้ ๑ ดังนี้

อรรถกถา

ในอรรถกถาแห่งพระสูตรนี้ว่า สิ่งทั้ง ๗ มีราคะเป็นต้น ที่ได้ชื่อว่าไฟนั้น เพราะเป็นของตามเผา คำว่าอาหุไนยะนั้น ได้แก่มารดาบิดา ผู้ควรแก่ของคำนับ เพราะมารดาบิดาย่อมควรแก่ของคำนับ โดยเหตุว่าเป็นผู้มีบุญคุณมากแก่บุตรทั้งหลาย พวกบุตรที่ทำผิดต่อมารดาบิดาย่อมเกิดในอบายภูมิ ๔ มีนรกเป็นต้น ถึงมารดาบิดาไม่ได้ตามเผาก็จริง แต่ว่าเป็นเหตุแห่งการตามเผา เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าไฟอาหุไนยะฯ คำว่า ไฟคฤหบดีนั้น ได้แก่ไฟคือเจ้าของเรือน อันได้แก่สามี เพราะว่า สามี ย่อมมีคุณมากแก่มาตุคาม ด้วยการให้ที่อยู่ ที่นอน ผ้าผ่อนท่อนสะไบ เครื่องตกแต่งร่างกายเป็นต้น มาตุคามที่นอกใจสามี ย่อมเกิดในอบายภูมิ ๔ มีนรกเป็นต้น เพราะฉะนั้น คฤหบดีจึงเรียกว่าไฟ เพราะเป็นของตามเผาฯ คำว่าไฟทักขิไนยนั้น ได้แก่ไฟ คือพระภิกษุสงฆ์ผู้ควรรับทิกขิณา อันได้แก่ปัจจัย ๔ พระภิกษุสงฆ์นั้น ชื่อว่ามีคุณมากแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยการแนะนำในทางธรรมที่ดี เป็นต้นว่า แนะนำให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ และศีล ๕ ศีล ๑๐ แนะนำให้ปฏิบัติมารดาบิดา แนะนำให้ปฏิบัติสมณพราหมณ์ พวกคฤหัสถ์ที่ทำผิดต่อพระภิกษุสงฆ์ คือด่าว่าพระภิกษุสงฆ์ ย่อมไปเกิดในอบายภูมิ ๔ มีนรกเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระภิกษุสงฆ์ผู้ควรแก่ทักขิณา จึงเรียกว่า ไฟทักขิไนย เพราะเป็นของตามเผา ส่วนไฟที่เกิดจากไม้ตามปกติเรียกว่าไฟไม้ ดังนี้

ธัมมัตถาธิบาย

ในอรรถาธิบายว่า คำว่า ไฟ หมายถึงสิ่งที่ร้อน แต่สิ่งที่ร้อนนั้น มีทั้งสิ่งที่ตาเห็นและตาไม่เห็น สิ่งที่ตาไม่เห็นนั้น ได้แก่กิเลส คือราคะ โทสะ โมหะ สิ่งที่ตาเห็นนั้น ได้แก่มารดาบิดา สามี พระภิกษุสงฆ์และไฟเกิดจากไม้ธรรมดาฯ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นของทำให้เร่าร้อนทั้งกาย ทั้งใจ เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เกิดในใจของผู้ใด ใจของผู้นั้นก็เร่าร้อน แต่เร่าร้อนต่างกัน คือราคะ ทำให้เร่าร้อน ด้วยความอยากได้ ด้วยความมัวเมา โทสะ ทำให้เร่าร้อน ด้วยความอยากทำลายโมหะ ทำให้เร่าร้อนด้วยความงมงาย ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งราคะ ย่อมทำกาเมสุมิจฉาจารและทำบาปอย่างอื่นได้อีก ผุ้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งโทสะ ย่อมทำปาณาติบาต และทำบาปอย่างอื่นได้อีก ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งโมหะ ย่อมทำบาปได้สิ้น เมื่อทำบาปแล้ว ก็ต้องร้อนกายร้อนใจ ทั้งในเวลาเป็น เวลาตาย เพราะฉะนั้น กิเลสทั้ง ๓ คือราคะ โทสะ โมหะ จึงเรียกว่าไฟ แต่ละอย่างๆ มารดาบิดา ที่เรียกว่าไฟอาหุไนยะนั้น เพราะบุตรที่กระทำผิดต่อมารดาบิดา ย่อมไปเดือดร้อนอยู่ในอบายภูมิ ๔ สามีที่เรียกว่าไฟ คือคฤหบดีนั้น เพราะทำให้ภรรยาผู้นอกใจ ไปเดือดร้อนอยู่ในอบายภูมิ ๔ พระภิกษุสงฆ์ที่เรียกว่าไฟทักขิไนยนั้น เพราะทำให้ผู้กระทำผิดต่อพระภิกษุสงฆ์ ไปเดือดร้อนอยู่ในอบายภูมิ ๔ ส่วนไฟที่เกิดจากไม้ธรรมดานั้น ย่อมทำให้ร้อนเป็นธรรมดา ไม่ใช่ทำให้ร้อนด้วยไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ฯ ไฟทั้ง ๗ กองนี้ มีไฟกิเลสเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าไฟกิเลสนั้นย่อมตามเผาอยู่ตลอดกาลนานหาประมาณไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงควรที่ทุกคนจะไม่ให้ไฟ ๗ กองนี้ ตามเผาตัวได้ จึงจะเป็นการดี สิ้นเนื้อความในเทศนากัณฑ์นี้เพียงเท่านี้.

เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้ฯ