เวลาพูดถึงความมั่งคั่ง คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงภาพคนรวยที่มีทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ
และมีช่องทางที่จะทำให้ความมั่งคั่งเพิ่มพูนได้ต่อไปเรื่อย ๆ ที่จริงแล้ว
ความมั่งคั่งสามารถมองได้หลายมุม จึงมีได้หลายความหมาย หลายระดับของความพอใจ
แล้วแต่การตีความ บางคนบอกว่า การมีงานทำ มีความมั่นคงในอาชีพการงาน คือ ” ความมั่งคั่ง ”
บางคนก็วัดความมั่งคั่งจากการมีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทำไมคนเราจึงต้องแสวงหาความมั่งคั่งกัน สิ่งที่ซ่อนลึก ๆ อยู่ในจิตใจของคนส่วนใหญ่ก็คือ
“ ความมีอิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom) ”
ลองนึกถึงสภาพที่เราไม่ต้องทำงาน แต่ยังมีเงินใช้โดยไม่เดือดร้อน หรือเรายังรักที่จะทำงาน
แต่ไม่ต้องอาศัยเงินเดือนนี้เป็นหลักในการดำรงชีวิต เราอาจนิยามความมีอิสรภาพทางการเงินได้ว่า
“ อิสรภาพทางการเงิน หมายถึง การที่คนเรามีหลักประกันทางการเงินที่มั่นคงเพียงพอ
ที่จะใช้ชีวิตได้อย่าง สุขสบายตามสมควรแก่อัตภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาใครมากจนเกินไป
และไม่ต้องผวาดผวากับปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทองๆ ว่าจะมีไม่พอกับการจับจ่ายใช้สอยเพื่อ
ดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในอนาคต ”
ถ้าอิสรภาพทางการเงินเป็นเป้าหมายของคนส่วนใหญ่ แต่สังเกตหรือไม่
คนที่พาตัวเองไปถึงระดับการมีอิสรภาพทางการเงินกลับมีไม่มากเลย
มีเคล็ดลับอะไรหรือไม่ที่ทำให้บางคนบรรลุเป้าหมายในเรื่องนี้ได้ ???
1.1 ความมั่งคั่ง : เราสร้างขึ้นมาอย่างไร ?
วิชาการด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล ระบุไว้ว่า ความมั่งคั่ง หมายถึง
ขนาดของสินทรัพย์สุทธิของบุคคลซึ่งมาจากสินทรัพย์รวมของบุคคลหักออกด้วย หนี้สินของบุคคล
และ การบริหารความมั่งคั่งของบุคคล หมายถึง
กระบวนการจัดการให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของสินทรัพย์สุทธิ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินสำหรับตนเอง หรือลูกค้าในระยะเวลาต่างๆ
คนที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ คือ คนที่เห็นเคล็ดลับว่า
รู้หา (How to earn) คือ รู้วิธีใช้ความสามารถของตน (Human Assets) ในการหารายได้
การได้เงินเดือนจากการทำงานของเราเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ยิ่งการงานประสบความสำเร็จ
เงินเดือนก็จะสูงขึ้น ยิ่งส่งผลให้ความสามารถที่จะออมได้มีมากขึ้น
ซึ่งเป็นรากฐานอย่างดีของการสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้น ช่องทางของการรู้หาไม่ได้มีเฉพาะ
การเป็นลูกจ้าง แต่การเลือกนำเงินทุนและแรงงานของเราไปลงทุนเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
ก็ทำให้มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนที่สูง ซึ่งเป็นรากฐานของการออมเพื่อความมั่งคั่งได้เป็นอย่างดี
รู้เก็บ (How to save) การแบ่งรายได้มาเพื่อออมทันทีเป็นการสร้างวินัยการเงิน เพื่อให้ฐานของ
เงินออมขยายตัวเพิ่มรองรับการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต และเงินออมควรแบ่งออกเป็นส่วน ๆ
ตามวัตถุประสงค์ของการออม ซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว
รู้ใช้ (How to spend) การใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเป็นหลักคิดสำคัญ
เพื่อให้รายได้ที่คงเหลือเป็นเงินออมมีเพียงพอที่จะใช้ขยายฐาน สร้างความมั่งคั่งในวันข้างหน้า
รู้ขยายผล (How to invest) แนวคิดออมดีกว่าไม่ออม และออมก่อนรวยกว่า
ยังไม่พอที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ เราจะต้องเรียนรู้ว่าเงินออมของเรามีทางเลือกอะไรบ้าง
ที่จะนำไปขยายผลให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ ไม่ใช่ฝากธนาคารอย่างเดียว
1.2 ไม่มีความมั่งคั่งสักที เป็นเพราะอะไร ?
“ ทำไมคนรวยจึงรวยเอา ๆ และทำไมคนจนจึงจนอยู่ดักดาน ” อาจตอบคำถามนี้ได้ว่า
ก็เพราะว่าคนรวยคิดไม่เหมือนคนจนน่ะสิ คงคล้าย ๆ กับว่าโปรแกรมในสมองของคนจน
(ซึ่งเป็นคนส่วนมาก) ตั้งมาไม่เหมือนของคนรวย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหลายประการ
ซึ่งทำให้คนจนต้องจนอยู่ต่อไป เราสามารถสรุปเรื่องนี้ได้ดังต่อไปนี้
ความเข้าใจผิดประการที่ 1 : การมีงานทำเป็นทางเดียวที่จะสร้างความมั่งคั่งได้
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราต้องทำงาน ตั้งใจทำงานให้ก้าวหน้าเติบโตต่อไป
และเก็บเงินเก็บทองเพื่อให้เกษียณได้อย่างมั่นใจว่า จะมีเงินไว้ใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอ
ที่จริงความคิดเช่นนี้ไม่ผิด เพราะการเก็บออมเงินจากรายได้ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด
เป็นฐานของการสร้างความมั่งคั่ง แต่การขยายความมั่งคั่งจากเงินออมของมนุษย์เงินเดือน
ทำได้ไม่เร็วนัก คนรวยไม่ได้คิดเช่นนี้ ลองดูหลักการที่อธิบายเกี่ยวกับความมั่งคั่งไว้ว่า
“ Wealth is when small efforts produce large results ”
ไม่ว่าคุณจะรักงานที่ทำมากเพียงใด ถ้ามันไม่ได้ก่อให้เกิดผลทวีคูณเกี่ยวกับความมั่งคั่ง
ก็ให้จงเชื่อเถิดว่า การพึ่งพิงรายได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่วิถีทางทำให้เกิดผล
อย่างใหญ่หลวง (Large Results) ต่อความมั่งคั่งได้ คำตอบในเรื่องนี้ก็คือ
ไม่ใช่เพียงแต่ทำงานหนัก (Work Harder)
แต่ต้องเป็นการทำงานอย่างฉลาด (Work Smarter) ด้วย
การทำงานควรถูกมองว่าเป็นความไม่สะดวกสบายชั่วคราว (A temporary inconvenience)
เท่านั้น การทำงานช่วยให้เรามีกระแสเงินสดรับ เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
และถ้าต้องการให้มีกระแสเงินสดรับสุทธิคงเหลือมาก ๆ ส่วนที่เหลือมาจากการทำงานจะมีอยู่จำกัด
ลองคิดดูว่า คุณจะออมได้มากที่สุดเท่าไรหลังจากหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว
ทางที่ดี คุณจะต้องเรียนรู้วิธีสร้างกระแสเงินสดรับเพิ่มเติมจากสินทรัพย์อื่น ๆ
นอกจากตัวคุณซึ่งเป็น Human Asset เพียงอย่างเดียวที่มุ่งหารายได้จากการทำงาน
ความเข้าใจผิดประการที่ 2 : การฝากเงิน คือ การลงทุนที่ดี
นี่ก็อีกเหมือนกัน การออมเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน เป็นรากฐานการสร้างความมั่งคั่ง ประเด็นเรื่องการออมนี้
ความสำคัญอยู่ที่การมีวินัยที่จะออมอย่างสม่ำเสมอ และต้องเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อย ๆ จึงจะได้เปรียบ
อย่างไรก็ตาม คนที่มีความมั่งคั่งจะไม่เคยคิดเลยว่า เงินออมที่ได้จากกระแสเงินสดรับสุทธิ
แล้วนำไปฝากธนาคารจะช่วยสร้างความ มั่งคั่งได้
(ลองพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้วปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อดู)
คนส่วนใหญ่อ้างว่า การฝากธนาคารมีความปลอดภัย
(ข้อนี้ก็ต้องพิจารณาว่า ในอนาคตรัฐบาลจะไม่ค้ำประกันเงินฝากเต็มจำนวนแล้ว)
อันนี้น่าจะเป็นความเคยชิน ความคุ้นเคยของเรามากกว่า ลองมองย้อนไปดูว่า
ฝากเงินมาหลายปีแล้ว เรารวยขึ้นขนาดไหน
ถ้าประเด็นคือ คุณต้องการความมั่งคั่ง คุณก็ต้องเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะ Save Smart
ให้ระลึกไว้ว่า เงินออมในรูปเงินฝากของคุณถือว่าอยู่ในสถานะสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีผล
ตอบแทนไม่สูงมาก และเรานำมาอยู่ในสถานะนี้ชั่วคราวเท่านั้น (Parked Temporarily in Liquid)
มันรอคอยให้เรากระจายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า อาจจะมีสภาพคล่อง
ไม่สูงเท่า แต่เราต้องมาตอบว่า เราต้องการสภาพคล่องขนาดไหน ขนาดที่จะต้องมีเงินฝาก
เป็นสินทรัพย์การเงิน 100% ที่เราถือครองหรือไม่
ความเข้าใจผิดประการที่ 3 : การมีหนี้สินเป็นสิ่งที่เลวร้าย จงหลีกหนีให้ไกลเหมือนเชื้อโรค
อันนี้เริ่มต้นก็ต้องชี้แจงก่อนว่า ไม่ได้มาสนับสนุนให้ทุกคนเป็นหนี้ ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่มีภาระหนี้สูง
มักจะมาจากการบริโภค ทำให้เกิดหนี้ประเภท Consumer Debt ขึ้น
หนี้ประเภทนี้นี่แหละที่ควรหนีให้ไกลเหมือนเวลาเจอเชื้อโรค เพราะเป็นตัวบั่นทอนความมั่งคั่ง
ทำให้ฐานเงินออมเราลดลง ค่านิยมของการซื้อของมาบริโภค และทำให้ดูเหมือนว่า
“ มีภาพของความมั่งคั่ง (Appearance of Wealth) ”
เป็นค่านิยมที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดความมั่งคั่งที่แท้จริงได้เลย
แต่การมีหนี้ประเภท Investment Debt เป็นอีกคนละเรื่อง
ลองนึกถึงตัวอย่างการซื้อบ้านซึ่งมีราคาแพง บางครั้งเรามีเงินไม่พอ ต้องไปกู้ธนาคารมาบางส่วน
การเกิดหนี้ประเภทนี้ ทำให้ได้สินทรัพย์มาถือครองเพื่อใช้ประโยชน์ในระยะยาว
ซึ่งอาจทำกำไรให้ผู้ลงทุนได้ แต่ผู้ลงทุนก็ต้องมีภาระการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
ซึ่งต้องไปบริหารจัดการรายได้รายจ่ายของตนเองให้ดี
ไม่ลงทุนอะไรเกินความสามารถที่จะทำให้กระแสเงินสดสุทธิมาจ่ายได้
(เพราะถ้าเกินตัวไปมาก เราก็จะได้เห็นหนี้เสียประเภท NPL ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น)
หนี้ประเภท Investment Debt ก็เหมือนหนี้ประเภทอื่นที่พอเราจะกู้ก็เกิดความกังวลว่า
จะจ่ายได้ไหม ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอก ใคร ๆ ก็อยากเป็นไททั้งนั้น
แต่ถ้าการก่อหนี้เป็นเครื่องมือให้คุณเป็นไททางการเงินได้ในอนาคต อันนี้ก็น่าสนใจนะ
ให้คิดไว้ว่า คนรวยเขามองว่า
“ You can never become wealthy without going into some from of investment debt.”
ปัญหาอยู่ที่การบริหาร Investment Debt อย่างชาญฉลาดนี่เอง
ขอบคุณที่มา : Post Today