‘พึ่งตน พึ่งธรรม’ พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย (ศากยะ)

Spread the love
h8e1f617.jpg

พระชาวเนปาล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก กล่าวกับกายใจ ในวันที่พี่น้องชาวไทยกำลังเป็นทุกข์กับเศรษฐกิจ

พระอนิลมาน ธฺมมสากิโย (ศากยะ) ชาวเนปาล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก กล่าวกับกายใจ ในวันที่พี่น้องชาวไทยกำลังเป็นทุกข์กับเศรษฐกิจ จะมีวิธีคิดใดในการยังชีพ เพื่อเกื้อกูลกันฉันพี่น้องให้ดำเนินต่อไปได้ โดยมีพึ่งทางใจอันแท้จริงได้อย่างไร

“เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช ตรัสว่า การพึ่งตนเองนั้นยากจริงอยู่ แต่ถ้าเรามีความรู้เท่าทัน นั่นเป็นการพึ่งตนเองอยู่ในทีแล้ว ถ้าพูดในแง่สมัยใหม่ก็คือ เวลาเราพูดถึง ‘พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ‘ ขอน้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ นั่นไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้าอย่างเดียว เพราะพระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว จะมาเป็นที่พึ่งเราได้อย่างไร ถ้าพูดกันแบบแรงๆ แต่ ‘พระพุทธ’ ในแง่บุคคลาธิษฐานก็คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น คือตื่นจากกิเลส และเข้าถึงปัญญาของเราให้ได้”

พระอนิลมาน ธฺมมสากิโย (ศากยะ) (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร ป.ธ. ๙) อายุ 53 ปี 38 พรรษา มีบทบาทในการช่วยเหลืองานของเจ้าประคุณสมเด็จฯ และพระศาสนาอย่างมหาศาลมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวในวาระที่สมเด็จพระสังฆราชจะเจริญพระชันษาครบ 100 ปีในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ที่จะมาถึง จึงขอน้อมธรรมะจากผู้ใกล้ชิดพระองค์มาฝากไว้เป็นเครื่องเตือนใจกัน

ท่านกล่าวว่า ธัมมัง หรือ ธรรมะ รากศัพท์ก็คือ การทรงไว้ หรือการสมดุล ในโลกนี้อยู่ได้เพราะความสมดุล ถ้าไม่สมดุลก็มีความเสียหาย มีภัยภิบัติที่เกิดขึ้น

“ดังนั้น ‘ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ‘ การเอาธรรมะเป็นที่พึ่งก็คือ ในชีวิตประจำวันของเราจะทำอย่างไร เพราะกิเลสทำให้ไม่สามารถรักษาความสมดุลได้ เราจะกลับมาสู่ความสมดุลที่เป็นปกติได้อย่างไร เป็นธรรมชาติได้อย่างไร นั่นก็คือการเข้าถึงพระธรรม “

สำหรับพระสงฆ์ จะเป็นที่พึ่งได้อย่างไรในวันนี้

‘พระสงฆ์’ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ที่เรากล่าวว่า ขอพระสงฆ์เป็นสรณะ พระสงฆ์องค์นี้คืออะไร ก็แปลว่า หมู่คณะ ในความหมายที่ละเอียดลงไปอาจหมายถึงพระอรหันต์ในอริยสงฆ์ แต่สงฆ์ที่หมายถึงหมู่คณะนั้น หมายความว่าการที่เราจะยืนอยู่ในสังคมเพียงลำพังเพียงคนเดียวไม่ได้ การที่จะเป็นเราเป็นนั่นเป็นนี่ ก็เพราะการอิงอาศัยกันและกัน ที่เราเรียกว่าขาว เพราะมีดำ ที่เรียกผู้ชาย เพราะมีผู้หญิง ที่เราเรียกว่าพระ เพราะมีฆราวาส

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นด้วยการอิงอาศัยกัน การที่เราจะอยู่ในสังคมได้ต้องมีการอิงอาศัยกัน ก็คือสังฆมณฑล ทีนี้จะทำอย่างไรให้สังฆะนี้เต็มไปด้วยความกรุณา ถ้าเห็นแก่ตัวก็อยู่กันไม่ได้ ต้องเป็นสังฆะที่ประกอบไปด้วยการุณ เป็นสังฆการุณ ถ้าเราสามารถเอาตัวนี้มาเป็นที่พึ่งได้ เราก็สามารถรักษาความสมดุลของกิเลสตามธรรมชาติได้ มันก็นำไปสู่ความตื่นตัวทางปัญญา และทำให้เกิดมีชีวิตที่มีความสุขได้

เหตุที่พระอาจารย์มาบวชในประเทศไทย 

เมื่อครั้งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเสด็จไปช่วยเหลือชาวพุทธที่ประสบภัยน้ำท่วมในปากีสถานตะวันออก ซึ่งก็คือบังกลาเทศในปัจจุบัน ก็เลยถือโอกาสไปเยี่ยมเนปาลด้วยในปี พ.ศ. 2513 ตอนนั้นท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ไปในนามคณะสงฆ์ไทยจึงได้สามเณรน้อยในตระกูลศากยะ ซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกับพระพุทธเจ้ากลับมาหนึ่งรูป

เดิมตระกูลของอาตมาเป็นพระ เพราะเกิดในตระกูลศากยะ ที่เนปาลอายุ 5 ขวบเขาก็ให้บวชกันแล้ว แต่ไม่ได้บวชแบบเถรวาท ที่อาตมามาบวชเป็นเถรวาทตอนอายุ 14 ปีนั้น ต้องเรียกว่าเป็นพระบารมีของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชโดยตรง

ตอนนั้นพระองค์เสด็จฯ ไปที่เนปาล แล้วเห็นความไม่เจริญของเถรวาท เพราะที่เนปาลมีทั้งมหายาน วัชรยาน แต่เถรวาทไม่มี เนื่องจากมันเสื่อม เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็พยายามถามคณะสงฆ์เนปาล ซึ่งตอนนั้นเพิ่งมีพระไปบวชจากพม่า และศรีลังกามา 20 กว่ารูป ก็ถวายการต้อนรับ พระองค์รับสั่งกับคณะสงฆ์เนปาล โดยมีกงศุลไทยเป็นคนดูแล บอกว่า ประเทศไทยเป็นหนี้บุญคุณแก่ประเทศเนปาลมาก เพราะประเทศเนปาลให้กำเนิดพระพุทธเจ้า แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้ประเทศไทยเจริญและสงบสุขในทุกวันนี้

ดังนั้นเมื่อมาเห็นว่าประเทศที่พระพุทธเจ้าประสูติเป็นเช่นนี้ ก็อยากจะช่วย มีอะไรให้ช่วยไหม ประธานคณะสงฆ์ที่ให้การต้อนรับก็บอกว่า ขอรับพรสักสองข้อแล้วกัน

พรข้อที่ 1. ขอให้ส่งพระธรรมทูตไทยไปเผยแผ่ที่โน่น ในประเด็นนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ รับสั่งว่า จะมานำเสนอมหาเถรสมาคมแล้วกัน เพราะไม่รู้ว่าจะมีพระรูปไหนที่อยากจะมาบ้าง เพราะพูดภาษาเขาก็ไม่รู้เรื่อง พรข้อที่ 2. อยากให้ประเทศไทยรับภิกษุสามเณรเนปาลมาศึกษาพุทธศาสนาที่แท้จริงที่นี่ เพื่อจะได้กลับไปต่ออายุพระศาสนาในเนปาล ในประเด็นนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เลยรับสั่งว่า เอ้อ มีไหมล่ะ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศก็รับไว้เอง

รูปแรก เป็นรุ่นพี่ของอาตมามาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เรียนเก่งมาก พอเรียนจบ ไปเป็นพระธรรมทูตที่ออสเตรเลีย แล้วกลับไปเนปาลก็ลาสิกขา ในช่วงนั้น คณะสงฆ์เนปาลเลยหาบวชใหม่มี 3 รูป อาตมาคือหนึ่งในนั้น เพราะขณะนั้น โยมพ่ออาตมาไปวัดทุกวัน ไปร้องเพลงธรรมะ อาตมาเป็นเด็กเล็กๆ ก็ตามไปยกเครื่องดนตรีกับพ่อทุกวันก็คุ้นเคยกับพระ เรามีพี่น้องผู้ชาย 5 คน ผู้หญิงอีก 1 เป็นหกคน พระขอพ่อว่า ขอลูกสักคน ตอนแรกพ่อจะยกพี่ชายคนโตให้ แต่เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่หนึ่งของประเทศ ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ หนีไปเสีย พ่อก็เลยมองมาที่อาตมา เป็นลูกคนที่สอง

พ่อก็ถามอาตมา พระอยากให้บวชเอาไหม ตอนนั้นคิดว่า เป็นพระไม่เห็นต้องทำอะไร อยู่บ้านต้องเลี้ยงน้องสามสี่คน เป็นพระสบายกว่าเยอะก็เลยรับปาก ขอลองก่อน พ่อบอกว่าลองได้ พระที่นั่นก็ฝึกอาตมาอยู่ 9 เดือน แล้วส่งมาประเทศไทยอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชจนถึงทุกวันนี้

ส่วนพระจากตระกูลศากยะในประเทศไทย นอกจากพระอาจารย์แล้ว ตอนแรกๆก็ไม่มี ช่วงหลังมาสามรูป ในสองรูปเป็นศากยะ อาตมาคือหนึ่งในนั้น

ช่วยงานเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตั้งแต่เมื่อไร

ก็ต้องถือว่า เป็นสิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงพระเมตตา ตั้งแต่อาตมาเดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2518 ตอนนั้นอายุ 15 ปี เจ้าประคุณสมเด็จฯ ช่วยดูแลอุปถัมภ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่พูดภาษาไทยยังไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษก็ยังไม่ค่อยได้เหมือนกัน

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระองค์แรกที่ดูแลเหมือนกับอาตมาเป็นลูกคนหนึ่งของพระองค์ ในแง่ของการอุปัฏฐากก็คือ ในสมัยที่ยังเป็นสามเณร ก็อุปัฏฐากแบบครูบาอาจารย์ทั่วไปที่จะต้องอยู่ใกล้ชิด เช้าก็ต้องมาคอยรับใช้สนองงานถวาย ในแง่หยิบของโน่นนี่ ไม่ก็ต้องอยู่เป็นเพื่อน เพราะตามพระวินัยของสงฆ์ เวลาญาติโยมมาหาเป็นสุภาพสตรีมาคนเดียวจะลำบาก ก็ต้องอยู่เป็นเพื่อนในเวลาเข้าเฝ้าอะไรก็แล้วแต่ บางทีญาติโยมเอาของมาถวายก็ต้องมีหน้าที่คอยรับประเคน ให้ไปค้นหนังสืออะไรก็รีบไปค้น หรือไปตามหาพระรูปไหนในวัดก็ไปตาม

มาช่วงหลังพอที่จะพูดภาษาไทยได้ พอที่จะเขียนภาษาอังกฤษ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะร่างอะไรก็ให้อาตมาช่วยเขียน รับสั่งออกมา อาตมาก็เขียนตาม ร่างจดหมาย ร่างพระโอวาท ร่างเทศน์ ร่างเล็กๆ น้อยๆ แล้วเอาไปพิมพ์และนำมาให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ตรวจ

ต่อมาต้องดูแลเรื่องไดอารี่ ว่าใครจะมาเข้าเฝ้า หรือบางครั้งต้องดูแลกุญแจพระตำหนักเวลาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปไหน เป็นอยู่อย่างนี้นานจนถึง พ.ศ. 2525 พระเลขาท่านสึก เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เลยให้เรียนรู้งานเลขา บอกให้มานั่งที่สำนักเลขานุการฯ

ด้วยความที่ยังเป็นเณร เป็นพระใหม่ ก็อยู่บ้าง ไม่อยู่บ้าง อายุ 19-20 ก็เรียนรู้เรื่องงานเลขาทั้งหมด ในเรื่องการรับหนังสือ ร่างหนังสือส่งออก ติดต่อญาติโยม รับนัด ฯลฯ ตอนนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีตำแหน่งอยู่หลายตำแหน่ง นอกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ก็ยังเป็นเจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพ และสมุทรปราการ ธรรมยุต มีวัดในสังกัด 30 กว่าวัดต้องติดต่อกับคณะสงฆ์ทั้งหมด นอกจากนี้ท่านยังเป็นประธานมูลนิธิสงเคราะห์โรคเรื้อน มีงานสังคมสงเคราะห์เข้ามาอีก แล้วก็สร้างวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ไว้ที่ชลบุรี ก็มีงานหลายอย่างที่เข้ามาหลายรูปแบบ ต้องเรียนรู้เรื่องการจัดเก็บเอกสาร การร่างจดหมาย ฯลฯ

งานเยอะพอสมควร พระอาจารย์ภาวนาอย่างไร

ส่วนใหญ่ตอนกลางวัน อาตมาอยู่กับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ส่วนเวลากลางคืนก็ร่างจดหมาย เจ้าประคุณสมเด็จฯ สอนทุกอย่าง แม้แต่การตั้งชื่อ ทุกชื่อที่ตั้ง พระองค์เป็นผู้สำรวจว่าดี หรือไม่ดี ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ใช้ได้ ใช้ไม่ได้ ทำให้คุ้นเคยกับหนังสือหนังหาที่พระองค์ทรงค้นคว้า บางครั้งทรงให้อ่านหนังสือที่พระองค์ค้นคว้า ก็อ่านไปตะกุกตะกักไป พระองค์ก็ให้แก้ไข บางครั้งทรงให้อ่านหนังสือให้ฟัง แล้วพระองค์สรุปให้ฟังว่าหนังสือเล่มนี้ๆ ว่าอย่างนี้นะ

ส่วนใหญ่การอุปัฏฐากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มาก ในแง่อุปัฏฐากก็เป็นการช่วยเหลือในเรื่องที่ท่านให้ทำ ในปัญญาอันน้อยนิดของอาตมาคงทำอะไรไม่มากกว่านั้น ในปี พ.ศ. 2525 ตอนที่ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระญาณสังวร พระองค์ก็แต่งตั้งอาตมาให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับการภาวนา ดังเช่นวันปาติโมกข์ หลังปาติโมกข์ ท่านก็สอนพระในวัด หากมีเรื่องอะไรท่านจะปรารภขึ้นมา พระในวัดก็จะสะทกสะท้านกันทั้งวัด พระองค์ใช้คำธรรมดา แต่จะสอนให้สำนึกในความเป็นพระ ให้สำนึกในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง แล้วพระทุกรูปก็คิดว่า ท่านรู้ได้อย่างไร

เหมือนนิทานที่เล่ากันในตอนเด็กว่า ในหมู่โจร พระราชาบอกว่าเดี๋ยวจะตัดขา ใครเป็นโจรยกมือยกเท้าขึ้น โจรจริงๆ ก็รีบยกเท้าเพราะกลัวจะถูกตัดขา อย่างเช่น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้อาตมาไปตามพระรูปนั้นรูปนี้มา สมัยนั้นเป็นเณร พระก็จะถามว่า มีอะไรเณร ทำไมให้ตาม มีอะไรหรือเปล่า กลัวทันทีเลย ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไร แม้แต่พระผู้ใหญ่เองก็จะถามว่า มีอะไร ทำไมให้มาตาม พระองค์มีพระเดชที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพระคุณ

หรืออย่างการเรียนการสอน ตัวอาตมาเอง พระองค์ผลักดันให้ไปเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท พระองค์มักจะบอกว่า พระองค์ไม่มีโอกาสเรียน ภาษาก็ต้องเรียนเอง เมื่อคนอื่นมีโอกาส อย่าให้โอกาสพลาดไป

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระเมตตามาก ความเมตตาของพระองค์แผ่ไปถึงหมาแมวด้วย สมัยก่อน หมาขี้เรื้อนในวัดเยอะ มีกทม.มาจับ พระองค์เดินในวัดหาหมาไม่เจอ หมาหายไปไหน พอพระองค์ทราบว่าถูกกทม.จับไป พระองค์กล่าวว่า จับไปได้อย่างไร หมาก็อาศัยวัด พระก็อาศัยวัด พระจะมีสิทธิมากกว่าหมาได้อย่างไร ทรงให้ไปตามเอาหมาคืนมาที่วัด จะต้องเสียตังค์อย่างไร พระองค์ก็บอกว่าให้มาเบิกที่นี่ พระองค์มีเมตตาบอกว่า มันก็อยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างอยู่ เขาก็มาพึ่งวัด เพราะวัดมันร่มเย็น

ที่มา
www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-…B8%A2%E0%B8%B0).html