ทุกคนที่เกิดมาต่างมีหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ใครจะมีหน้าที่อะไร หรือมีหน้าที่มากน้อยแค่ไหน ที่ไม่มีหน้าที่นั้นคงไม่มี เช่นตั้งแต่เกิดมา เราต้องเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ถ้าเรามีพี่เราก็ต้องเป็นน้องที่ดี ถ้าเรามีน้องเราก็ต้องทำตัวให้เป็นพี่ที่ดี เมื่อเข้าโรงเรียนก็เป็นนักเรียนที่ดีของครูบาอาจารย์ เมื่อมีครอบครัวก็ต้องทำหน้าที่พ่อบ้านแม่บ้านที่ดี ยิ่งมีหน้าที่การงานใหญ่โตก็ยิ่งต้องมีคุณธรรม
คุณธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องมีไว้ประจำใจ ยิ่งบุคคลใดรับราชการเป็นตัวแทนของประชาชน ได้รับมอบหมายให้บริหารประเทศ ยิ่งต้องเป็นผู้ทรงความยุติธรรม ต้องเป็นคนเที่ยงตรง ไม่โอนเอน ไม่ใช่เห็นแต่ประโยชน์ตนเพียงอย่างเดียว แล้วทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น หากเป็นเช่นนี้ นอกจากจะไม่เป็นที่รักแล้ว แม้ตนเองก็จะเอาตัวไม่รอด เพราะฉะนั้น ผู้ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมต้องมีใจมั่นคง ยึดถือคุณธรรมเป็นหลัก แม้ชีวิตก็ไม่เสียดาย มิใช่หวังเพียงแค่อามิสเล็กน้อย แล้วละเลยธรรม อย่างนี้ถือว่า ไม่ตั้งอยู่ในธรรม และหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเราทุกๆ คนก็คือ หน้าที่ในการแสวงหาธรรมภายในเพื่อขจัดกิเลสอาสวะ สิ่งนี้เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องรักษาไว้ยิ่งชีวิต
มีวาระพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
“นิกฺกุหา นิลฺลปา ธีปา อถทฺธา สุสมาหิตา
เต เว ธมฺเม วิรูหนฺติ สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิเต
ชนทั้งหลาย ผู้ไม่คดโกง ไม่พูดเพ้อ มีปรีชาสามารถ ไม่เย่อหยิ่ง มีใจมั่นคง ย่อมงดงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว”
ในทุกวงการทุกสาขาอาชีพ ต่างต้องการบุคคลากรที่เพียบพร้อมทั้งความรู้ และความสามารถ สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ไม่มีหน่วยงานใดต้องการบุคคลที่คดโกง ไม่ซื่อสัตย์ เพราะบุคคลที่คดโกงนำความเสียหายมาสู่หน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ อย่างแน่นอน หากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ชื่อเสียงเกียรติยศที่มีก็เสื่อมสลาย ขาดความเชื่อถือ ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย อีกทั้งไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้ใด ดังนั้นการโกหกหลอกลวง นอกจากจะทำให้ไม่เจริญแล้ว ยังเป็นบาปอกุศลต่อผู้กระทำอีกด้วย
การพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ไร้ประโยชน์ก็เช่นกัน เป็นสิ่งที่เราควรงดเว้น การพูดมากไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป เพราะบ่อยครั้งการนิ่งเงียบกลับเป็นการดีกว่า ยิ่งพูดมากย่อมมีโอกาสผิดพลาดเพิ่มมากขึ้น วิสัยของคนที่มีปัญญาเขาจะดูบุคคล เวลา สถานที่ และโอกาสในการพูด แม้เรื่องนั้นจะจริง และมีประโยชน์ก็ตาม ก็ยังต้องพิจารณาให้รอบคอบ เราจึงได้ยินเสมอว่า คนยิ่งรู้มากยิ่งพูดน้อย ถ้อยคำเพียงคำเดียวของบัณฑิต ย่อมมีพลังมากกว่าคนพาลที่พูดมากเป็นพันเป็นหมื่นคำ
เพราะฉะนั้น ให้เราพูดแต่คำที่มีประโยชน์เป็นสาระ เป็นถ้อยคำที่เป็นไปเพื่อสันติสุข เป็นไปเพื่อการเข้าถึงธรรม ถ้าทำได้เช่นนี้ คำพูดที่เป็นสาระของชีวิตก็จะเพิ่มพูน คำพูดเพ้อเจ้อจะเริ่มลดน้อยลงไป ต่อไปเราจะเป็นธรรมวาที มีวาจาเป็นไปเพื่อธรรม คือ เจรจาเพื่อการเข้าถึงธรรม เมื่อถึงคราวควรพูดจึงพูด ไม่ถึงคราวที่ควรพูดก็จงนิ่งเสีย และควรพูดเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนและผู้อื่น ให้เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นเท่านั้น
คุณสมบัติต่อมาคือไม่เป็นคนเย่อหยิ่ง การมีใจที่มั่นคงถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง เพราะบุคคลเช่นนี้ ย่อมเป็นที่ไว้วางใจในทุกที่ ทุกสถาน บุคคลทั้งหลายอยากคบหาสมาคมด้วย การงานที่ตนทำนั้นก็พัฒนาไปได้ดี บุคคลผู้ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ย่อมทำให้เกิดสุขทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และบุคคลรอบข้าง อีกทั้งเป็นบรรทัดฐานให้สังคมเกิดความสงบสุขด้วย
การทำหน้าที่อย่างสุจริตยุติธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ หรือขัดใจคนพาล ผู้มองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน จนเป็นเหตุทำให้เกิดเรื่องราวขึ้น หากไม่ได้บัณฑิตผู้มีปัญญามาช่วยแก้ไข เหตุการณ์นั้นคงจะต้องเสียหายมากยิ่งขึ้น
* เรื่องของพระทัพพมัลลบุตรเถระในสมัยพุทธกาล ที่ท่านได้รับภาระให้เป็นผู้จัดภัตรแก่หมู่ภิกษุ เพื่อความผาสุกของหมู่สงฆ์ บางวันภัตตาหารก็ประณีต บางวันก็ไม่ค่อยประณีต วันหนึ่ง เมื่อภัตตาหารไม่ประณีต ภิกษุรูปหนึ่งชื่ออุทายีรู้สึกไม่พอใจ ได้สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในโรงทาน เที่ยวบ่นเพ้อไปต่างๆ นานา หาว่าพระทัพพมัลลบุตรลำเอียงบ้าง ซึ่งจริงๆ ตนอยากทำหน้าที่นี้แทนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั่นเอง
วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้มอบภาระให้พระอุทายีด้วยคำว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ท่านจงจัดแจงภัตรแก่ภิกษุทั้งหลาย” พระอุทายีจึงได้จัดภัตตาหารถวายหมู่ภิกษุตั้งแต่นั้น แต่ท่านไม่รู้ว่าภัตตาหารดีหรือไม่ดี ภัตตาหารที่ดีอยู่ตรงไหนท่านก็ไม่รู้ แม้จำนวนภิกษุท่านก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้จำนวนภิกษุที่มารับภัตร ท่านก็ขีดเส้นตามพื้นบ้าง ตามผนังโรงทานบ้างด้วยความมักง่าย บางวันมีภิกษุน้อย บางวันมีภิกษุมาก รอยขีดจึงสูงๆ ต่ำๆ เปรอะเปื้อนตามฝาผนังไปทั่ว บางวันอาหารขาด ทำให้ภิกษุทั้งหลายเสื่อมจากลาภ เมื่อเป็นเช่นนี้นานเข้า ภิกษุทั้งหลายได้พร้อมใจปลดพระอุทายี แต่ท่านไม่ยอม พระภิกษุทั้งหลายจึงต้องดึงตัวท่านออกจากโรงทาน ทำให้เกิดความวุ่นวายส่งเสียงดังขึ้น
พระศาสดาสดับเสียงนั้น จึงตรัสถามพระอานนท์ ครั้นพระองค์รู้เรื่องราวแล้ว จึงตรัสว่า “อุทายีทำความเสื่อมลาภแก่ผู้อื่น เพราะความที่ตนเป็นคนโง่มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ได้ทำเช่นกัน” เมื่อพระอานนท์ทูลวิงวอนจึงได้ทรงเล่าว่า
ในอดีตกาลมีพระราชาพระนามว่าพรหมทัต ปกครองเมืองพาราณสี ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพนักงานตีราคาสิ่งของด้วยความเที่ยงธรรม ได้ตีราคาอย่างเหมาะสมกับสิ่งของนั้นๆ แต่พระเจ้าพรหมทัตทรงละโมบดำริว่า ถ้าตีราคาเช่นนี้ สักวันหนึ่งทรัพย์สมบัติของเราต้องหมดไปเป็นแน่ เราเห็นจะต้องปลดแล้วตั้งคนอื่นแทน จึงทรงเปิดสีหบัญชรยืนทอดพระเนตรดู เห็นบุรุษคนหนึ่งเป็นชาวบ้านที่ไม่เอาไหน ทั้งยังเป็นคนโง่เขลา จึงทรงตั้งเขาในตำแหน่งผู้ตีราคาแทนพระโพธิสัตว์ ตั้งแต่นั้นมาบุรุษนั้นก็ได้ตีราคาตามใจชอบ ทำให้ราคาสิ่งของผิดพลาดเสียหายไม่สมกับราคาของสิ่งของนั้นๆ แต่เพราะเขาดำรงอยู่ในตำแหน่งนั้น เมื่อเขาพูดคำไหนก็ต้องเป็นคำนั้น
ต่อมามีพ่อค้านำม้ามา ๕๐๐ ตัวจากแคว้นอุตตราปถะ เพื่อขายพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตตรัสเรียกบุรุษนั้นให้มาตีราคา เขาตีราคาม้า ๕๐๐ ตัว เพียงแค่ข้าวสาร ๑ ทะนาน แล้วให้เอาม้าไปไว้ในคอก เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกพ่อค้าก็จนปัญญา ครั้นหมดที่พึ่งจึงไปหาพระโพธิสัตว์ แล้วเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระโพธิสัตว์ฟัง พระโพธิสัตว์ได้ออกอุบายให้พ่อค้าม้าไปติดสินบนบุรุษนั้น ด้วยการให้บุรุษนั้นตีราคาข้าวสาร ๑ ทะนานเท่ากับเมืองทั้งเมือง เมื่อบุรุษนั้นตอบตกลงจึงพากันไปเข้าเฝ้าพระราชา
พระโพธิสัตว์และอำมาตย์ทั้งหลายพากันไปเข้าเฝ้าพระราชาด้วย เมื่อไปถึงพ่อค้าได้กราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์รู้มาว่า ม้า ๕๐๐ ตัวมีราคาเท่าข้าวสารทะนานหนึ่ง แต่ข้าวสารทะนานหนึ่งพวกข้าพระองค์ไม่รู้ว่ามีราคาเท่าไร ขอพระองค์โปรดถามพนักงานตีราคาดูเถิด” พระราชาตรัสถามบุรุษนั้น บุรุษนั้นกราบทูลว่า “มีราคาเท่ากับเมืองพาราณสีทั้งภายนอกและภายใน พระเจ้าข้า”
ครั้งก่อนบุรุษนั้นตีราคาม้า ๕๐๐ ตัว เท่าข้าวสาร ๑ ทะนาน เพื่อคล้อยตามพระราชา แต่ครั้งนี้เขาได้รับสินบนจากพ่อค้าม้า จึงตีข้าวสาร ๑ ทะนานเท่ากับเมืองพาราณสี อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังต่างพากันตบมือหัวเราะเยาะเย้ยว่า “เมื่อก่อนพวกเราคิดว่า แผ่นดินและราชสมบัติหาค่ามิได้ แต่บัดนี้มีราคาเท่ากับข้าวสารเพียงทะนานหนึ่งเท่านั้น” พระราชาทรงละอายมากจึงปลดพนักงานตีราคาออกจากตำแหน่ง แล้วทรงตั้งพระโพธิสัตว์ไว้ในตำแหน่งตามเดิม
มีคำกล่าวว่า ผู้ที่ทำหน้าที่รักษากฎหมายต้องไม่มีอคติ ๔ คือ ความลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว และต้องฟังด้วยความถ่อมตน ตอบอย่างมีสติปัญญา ใช้ความคิดอย่างเงียบสงบ และตัดสินอย่างเที่ยงธรรม การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะตัดสินอย่างเที่ยงธรรมได้ ใจของบุคคลนั้นต้องอยู่ในธรรม เป็นผู้ไม่มีความลำเอียง ซึ่งการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ นั้น เราต้องทำกันทุกๆ วัน
ดังนั้น ใจเราจะต้องอยู่ในธรรมให้ได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เราต้องทำสมาธิ(Meditation)ให้มากๆ แล้วการตัดสินใจอันชอบธรรมจึงจะเกิดขึ้น ธรรมะที่ปรากฏอยู่ภายในใจ จะทำให้เราทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนต้องหมั่นนั่งธรรมะ ให้ใจอยู่ในธรรม แล้วเราจะเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมอย่างแท้จริง
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
ที่มา buddha.dmc.tv/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A…%B8%A3%E0%B8%A1.html