พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (สันสกฤต: Samantabhadra; ทิเบต: Kun-tu bzang-po; มองโกเลีย: Qamugha Sain, จีน: 普賢菩薩 พินยิน: Pŭxián púsà; ญี่ปุ่น: Fugen bosatsu; เวียดนาม: Phổ Hiền Bồ Tát) เป็นพระโพธิสัตว์ในกลุ่มตถาคตโคตรของพระไวโรจนพุทธะ ชื่อของพระองค์ท่านแปลว่า ดี รุ่งเรือง หรือเป็นมงคล ท่านมักปรากฏในพุทธมณฑลในฐานะตัวแทนของพระไวโรจนพุทธะ จึงเป็นตัวแทนของความกรุณาและสมาธิที่ดิ่งลึก
รูปลักษณ์
ในงานทางพุทธศิลป์ ท่านมักจะปรากฏตัวคู่กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ในญี่ปุ่น ท่านนั่งบนช้างสวมเครื่องทรงแบบเจ้าชาย มือซ้ายถือจินดามณี มือขวาอยู่ในท่าคิด ในทิเบต ภาพวาดของท่านมีกายเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือสีเหลือง นั่งขัดสมาธิเพชร มือประสานกันบนตัก ถ้าอยู่ในท่ายืน มือขวาถือดอกบัวทั้งก้านพร้อมจินดามณี มือซ้ายถือวัชระ ในจีน ท่านมีชื่อจีนว่า โผวเฮี้ยง เป็นรูปชายหนุ่มแต่งกายอย่างชาวจีนโบราณ นั่งบนช้างเผือก
ปณิธานของพระสมันตภัทร
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ได้ตั้งปณิธานไว้ 10 ประการ ปรากฏอยู่ในคัณฑวยูหสูตร ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านได้รับการยกย่องในฐานะพระโพธิสัตว์ที่มีจริยาวัตรงดงามปณิธาน 10 ประการ ได้แก่
- เคารพพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
- ยกย่องพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
- สักการบูชาพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
- สารภาพความผิดที่ทำมาในอดีตทั้งหมด
- ตั้งมุทิตาจิต อนุโมทนาในความดีและความเจริญของผู้อื่น
- วิงวอนให้พระพุทธเจ้าสั่งสอนธรรม
- วิงวอนให้พระพุทธเจ้าสถิตอยู่ในโลก
- ปฏิบัติตามหลักธรรมสม่ำเสมอ
- ช่วยเหลือสรรพสัตว์เป็นนิจ
- อุทิศความดีที่ตนทำไว้เพื่อความรู้แจ้งและเพื่อบุคคลอื่น