ประวัติ พระกษิติครรภโพธิสัตว์

Spread the love
h14f9a71.jpeg

พระกษิติครรภโพธิสัตว์ (อ่านว่า /พฺระ-กะ-สิ-ติ-คัน-พะ-โพ-ทิ-สัด/, สันสกฤต: क्षितिगर्भ; Kṣitigarbha; กษิติครฺภ) เป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นที่นับถือในศาสนาพุทธนิกายมหายานในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มักมีรูปลักษณ์เป็นพระภิกษุมหายาน นามของพระโพธิสัตว์องค์นี้อาจแปลได้ว่า “ขุมทรัพย์แห่งแผ่นดิน” (“Earth Treasury”), คลังแห่งแผ่นดิน (“Earth Store”), “บ่อเกิดแห่งแผ่นดิน”( “Earth Matrix”), หรือ “ครรภ์แห่งแผ่นดิน” (“Earth Womb”)

พระกษิติครรภโพธิสัตว์ได้รับมอบหมายจากพระศากยมุนีพุทธเจ้าให้เป็นผู้แสดงธรรมโปรดสัตว์ในกามภูมิ 6 ในช่วงที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้วและพระศรีอริยเมตไตรยยังไม่ได้ลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า[1] พระกษิติครรภมีปณิธานสำคัญในการช่วยสัตว์โลกให้พ้นจากนรกทั้งหมด หากนรกยังไม่ว่างจากสัตว์นรกก็จะยังไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุดังกล่าว พระองค์จึงถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งสัตว์นรกทั้งปวง เช่นเดียวกับการเป็นผู้คุ้มครองเด็กทั้งหลาย และเทพอุปถัมภ์ของเด็กที่เสียชีวิตและทารกที่ตายจากการแท้งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

รูปลักษณ์ของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ปกติมักทำเป็นรูปพระภิกษุมหายาน มีรัศมีเปล่งรอบพระเศียรซึ่งปลงพระเกศาแล้ว หัตถ์หนึ่งทรงจับไม้เท้าซึ่งใช้เปิดประตูนรก อีกหัตถ์หนึ่งทรงถือแก้วจินดามณี (แก้วสารพัดนึก) เพื่อประทานแสงสว่างท่ามกลางความมืด

ภาพรวม
พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์เป็นหนึ่งในพระโพธิสัตว์ 4 พระองค์ ซึ่งเป็นที่นับถืออย่างยิ่งในศาสนาพุทธมหายานแถบเอเชียตะวันออก ร่วมกับพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

จิตรกรรมฝาผนังสมัยก่อนราชวงศ์ถังของจีนที่ถ้ำตุ้นฮวงและถ้ำหลงเหมิน ได้แสดงภาพของพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ไว้ตามความนิยมในลักษณะดั้งเดิมของพระโพธิสัตว์ หลังสมัยราชวงศ์ถัง รูปลักษณ์ของพระองค์ได้แพร่หลายมากขึ้นในลักษณะของพระภิกษุมหายานถือไม้เท้าและลูกประคำ

พระนามเต็มของพระองค์ในภาษาจีนคือ “ต้าหยวนตี้จั้งผู่ซ่า” (จีนตัวเต็ม: 大願地藏菩薩; จีนตัวย่อ: 大願地藏菩萨; พินอิน: Dàyuàn Dìzàng Púsà) ซึ่งแปลว่า มหาปณิธานกษิติครรภโพธิสัตว์ นามดังกล่าวนี้แสดงถึงปณิธานของพระองค์ซึ่งปรากฏอยู่ในพระสูตรมหายานต่าง ๆ ระบุว่าจะทรงรับภาระในการสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งปวงที่ในอยู่ในกามภูมิทั้งหกในโลก อันได้แก่ นรกภูมิ, เปตภูมิ, อสุรภูมิ, เดรัจฉานภูมิ, มนุสสภูมิ และเทวภูมิ (หมายความถึงสวรรค์ฉกามาพจรทั้ง 6 ชั้น) ตลอดยุคระหว่างศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระศรีอริยเมตไตรย ด้วยบทบาทที่สำคัญดังกล่าว ศาลาหรือวิหารซึ่งอุทิศแด่พระโพธิสัตว์พระองค์นี้จึงมักปรากฏอยู่เป็นศูนย์กลางของวัดพุทธมหายานฝ่ายตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในศาลาอนุสรณ์สถานหรือสุสานต่าง ๆ

กำเนิด

กำเนิดของพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์มีการกล่าวถึงเป็น 2 นัย นัยหนึ่งกล่าวว่าชาติกำเนิดเดิมของพระองค์เป็นธิดาพราหมณ์ อีกนัยหนึ่งเล่าเป็นเชิงตำนานว่าพระองค์เกิดเป็นราชกุมารแห่งอาณาจักรซิลลา ซึ่งภายหลังได้ออกผนวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา

ธิดาพราหมณ์

เรื่องราวของพระกษิติครรภโพธิสัตว์ปรากฏครั้งแรกในพระสูตรมหายานชื่อ “กษิติครรภโพธิสัตวมูลปณิธานสูตร” (จีนตัวเต็ม: 地藏菩薩本願經; จีนตัวย่อ: 地藏菩萨本愿经; พินอิน: Dìzàng Púsà Běnyuàn Jīng แต้จิ๋วเรียกว่า “ตี่จั่งอ๊วงพู่สักบึ้งง่วนเก็ง”) หนึ่งในพระสูตรมหายานอันเป็นที่นิยมนับถือมากที่สุด พระสูตรนี้กล่าวว่าพระโคตมพุทธเจ้าครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ตรัสเล่าก่อนจะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตของพระองค์มาสู่ครรภ์ของพระนางสิริมหามายา[2] แต่นักปราชญ์ส่วนมากเชื่อว่าถูกรวบรวมขึ้นในประเทศจีน เนื้อความของพระสูตรกล่าวถึงการบำเพ็ญกตัญญุตาธรรมของพระกษิติครรภโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่การตั้งมหาปณิธานเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งมวล

พระกษิติครรภโพธิสัตว์ทรงถือกำเนิดเป็นบุตรีในสกุลพราหมณ์ครอบครัวหนึ่ง บิดาชื่อ “ชีรชิณณพราหมณ์” มารดาชื่อ “ยัฏฐีลีพราหมณี” บิดาได้ถึงแก่กรรมก่อนมารดา จึงทำให้อาศัยอยู่กับมารดาตลอดมา พระองค์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพราหมณี เป็นผู้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เป็นคนใจดีมีเมตตา อยู่ในศีลในธรรม ส่วนมารดานั้นกลับประพฤติตรงข้ามกับบุตรี ไม่นับถือพระรัตนตรัย ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องสวรรค์หรือนรก แม้ว่าพราหมณีบุตรีจะชักชวนหรือโน้มน้าวจิตใจอย่างไร เพราะนางยัฏฐีลีพราหมณีมีมิจฉาทิฐฐิรุนแรง

ต่อมา นางยัฏฐีลีพราหมณี ได้ถึงแก่กรรมลง ผลกรรมที่นางทำไว้ทำให้นางไปตกนรกอเวจี

ฝ่ายทางนางพราหมณีบุตรี เมื่อมารดาได้ถึงแก่กรรมลง นางมีความโศกเศร้าเสียใจ เพราะรู้แน่ว่า มารดาคงไม่ไปสู่สุคติ นางอยากช่วยเหลือมารดา แม้ว่าจะต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติมีค่า หรือชีวิตของนางก็ตาม นางจึงได้ขายบ้านเรือน และของมีค่าทั้งหมดที่มี โดยรวบรวมเงินทั้งหมดไปซื้อดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องสักการบูชาต่างๆ ไปสักการบูชาตามวัดวาอารามต่างๆ และนำไปบริจาคทานแก่คนยากจน และสัตว์ที่อดอยากหิวโหย เพื่อเป็นการอุทิศบุญกุศลให้แก่มารดาที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้นางพราหมณีบุตรี ยังเป็นผู้ถือศีล บำเพ็ญเพียรภาวนา บูชากราบไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระนามว่า พระสัมมาสัมพุทธปัทมอิศวรชาตตถาคต) โดยนางภาวนาขอให้ผลของการบริจาคทานของนาง จงเกิดเป็นกุศลผลบุญไถ่บาปให้กับมารดาและพ้นจากนรก และไปสู่สคติ

เนื่องจากการปฏิบัติธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลายเรื่อยมา ทำให้วันหนึ่งนางพราหมณีบุตรีได้ยินเสียงทิพย์กระซิบบอกนางว่า

“ดูกร พราหมณี จงหยุดเศร้าโศกเถิด ตถาคตจะชี้ทางให้”

นางพราหมณี เกิดความยินดีอย่างมาก ก้มลงกราบและอธิษฐานว่า

“ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระเมตตา โปรดบอกที่อยู่ของมารดาของข้าพระองค์ด้วยเถิด เนื่องจากข้าพระองค์ได้ตั้งจิตไว้ว่า จะขอพบมารดาเพื่อทราบความเป็นอยู่ของท่านว่ามีสุขทุกข์อย่างไรบ้าง แม้จะต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็ยินดี หากจะช่วยเหลิอมารดาของข้าพระองค์ให้มีความสุขได้”

แต่หลังจากนั้น เนื่องจากไม่มีเสียงตอบรับใดๆ อีกเลย นางจึงบังเกิดความเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้จนเป็นลมไป พอนางฟื้นขึ้นมา นางก็ได้ยินเสียงทิพย์เข้ามาที่หูว่า

“ดูกร พราหมณี จงหยุดเศร้าโศกเถิด บุญกุศลที่เจ้าทำทั้งการสักการบูชาพระพุทธ และการบริจาคทานนั้น บุญกุศลแรงนัก จงหมั่นปฏิบัติบำเพ็ญต่อไป จะบังเกิดผลแก่มารดาดังความปรารถนา”

ทำให้นางดีใจและปิติสุขอย่างมาก และอธิษฐานขอให้นางได้พบมารดาดังที่หวังไว้

ต่อมานางพราหมณีบุตรีได้นั่งเจริญวิป้สสนากรรมฐานอย่างแน่วแน่ บุญกุศลได้ดลบันดาลให้วิญญาณของนางออกจากร่างไปสู่ยังมหาสมุทรแห่งหนึ่ง ซึ่งน่ากลัวมาก น้ำทะเลที่นั่นเป็นน้ำเดิอด และมีอสูรกายตัวใหญ่น่ากลัวกำลังไล่จับมนุษย์ที่ลอยคออยู่ในน้ำจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน เพื่อฉีกกินเป็นอาหาร น่ากลัวมากจนนางไม่กล้าหันไปมองด้วยความกลัวและสงสารมนุษย์เหล่านั้น

ในระหว่างนั้นเอง ได้มีเทพอสูร นามว่า “บ่อตั๊ก” และบริวาร ได้เดินตรงเข้ามาหานางและพนมมือไหว้ และกล่าวว่า

“สาธุ พระโพธิสัตว์ผู้เจริญ ท่านมาถึงแดนนรกนี้ ด้วยเหตุใด”

นางพราหมณีบุตรีจึงตอบว่า

“ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยากทราบความเป็นอยู่ของมารดา ชื่อ ยัฏฐีลีพราหมณี ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ทราบว่าตอนนี้วิญญาณของนางไปอยู่ที่แห่งใด ข้าพเจ้าเป็นห่วงมารดามาก ขอโปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้พบมารดาด้วยเถิด”

เทพอสูรเมื่อได้ฟัง จึงกล่าวตอบว่า

“ข้าแต่พระโพธิสัตว์ผู้เจริญ มารดาของท่านนามว่า ยัฏฐีลีพราหมณี ได้เคยตกลงมาในดินแดนนรกภูมินี้ แต่เนื่องจากนางได้รับบุญกุศลอันประเสริฐและยิ่งใหญ่จากการที่ท่านได้บำเพ็ญกุศลมาให้ มารดาของท่านได้ไปพ้นจากแดนนรกไปสู่สุคติแล้ว” พร้อมกับยกมือพนมพร้อมกับก้มลงแล้วจากไป
เมื่อนางได้ทราบดังนั้น นางจึงมีความยินดีและหมดห่วงในตัวมารดา แต่นางกลับเกิดความสงสารบรรดามนุษย์ที่ตกนรกและได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเหล่านั้น จึงเกิดความเมตตาอันแรงกล้าที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ในนรกเหล่านั้น

นางพราหมณีบุตรี จึงอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูป ขอถือศีลภาวนา บำเพ็ญทานบารมี เพื่อโปรดสรรพสัตว์ในนรกอเวจีตลอดจนถึงอนาคต ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง อย่าได้เบื่อหน่ายต่อการบำเพ็ญกุศลกรรมดังกล่าว

ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญบารมีเช่นนี้ จึงทำให้นางพราหมณีบุตรี เมื่อนางถึงแก่กรรม ได้กลับชาติมาเกิดเป็นบุรุษ และบำเพ็ญเพียรสร้างบารมี จนสำเร็จมรรคผลกลายเป็นพระโพธิสัตว์ พระนามว่า พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์

ภิกษุจากซิลลา

อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ได้ปรากฏตัวขึ้นในประเทศจีนสมัยโบราณ และเลือกโพธิมัณฑะ (ที่ตรัสรู้) ที่ภูเขาจิ่วหัวซัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาในประเทศจีน

ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก รัชกาลพระเจ้าฮั่นหมิงตี้ ศาสนาพุทธซึ่งกำลังรุ่งเรืองและจะเจริญอย่างถึงที่สุดในสมัยราชวงศ์ถัง ได้แพร่หลายไปสู่ดินแดนเกาหลี ในยุคนั้นพระสงฆ์และบัณฑิตทั้งปวงจากเกาหลีจะศึกษาพุทธศาสนาโดยการเดินทางไปศึกษาที่จีนเป็นหลัก หนึ่งในจำนวนผู้แสวงบุญเหล่านั้นเป็นอดีตมกุฎราชกุมารแห่งซินลอก๊ก (อาณาจักรซิลลา) ผู้มีนามว่า “กิมเคียวกัก” (ฮันจา: 金喬覺 อ่านเป็นภาษาจีนกลางได้ว่า “Jin Qiaojue”) ซึ่งได้ผนวชเป็นภิกษุในฉายา “จีจาง” (เป็นการออกเสียงอย่างเกาหลีของคำว่า “ตี้จ้าง”)[4] วันประสูติของท่านคือวันที่ 30 เดือนเจ็ดจีน ซึ่งต่อมาได้ถือเป็นวันสำหรับการสมโภชพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์

อุปนิสัยของพระภิกษุจีจางนั้นชอบความสงบและการบำเพ็ญสมาธิ จึงได้ออกเดินทางแสวงหาสถานที่สงบวิเวกตามป่าเขา จนกระทั่งมาถึงภูเขาจิ่วหัวซันในเขตมณฑลอันฮุยในปัจจุบัน ท่านจึงถือเอาปากถ้ำแห่งหนึ่งใกล้ที่ราบกลางหุบเขานั้นเป็นที่พำนักและบำเพ็ญสมณธรรม

ตามตำนานกล่าวว่า วันหนึ่งพระจีจางถูกงูกัดที่เท้าขณะที่บำเพ็ญสมาธิอยู่ แต่ท่านก็ยังนั่งนิ่งอยู่กับที่จนกระทั่งงูนั้นจากไป ครู่ต่อมามีหญิงคนหนึ่งปรากฏกายขึ้นและได้ถวายยาถอนพิษแก่พระภิกษุองค์นั้น และบันดาลน้ำพุขึ้นถวายแทนตัวลูกของนางซึ่งได้กระทำสิ่งไม่สมควรต่อท่านก่อนจะหายลับไป อีกไม่กี่ปีต่อมา บัณฑิตคนหนึ่งพร้อมด้วยมิตรสหายและครอบครัวได้เดินทางมาเยือนเขาจิ่วหัวซัน จึงได้พบกับพระภิกษุจีจาง ซึ่งปราศจากอาหารในบาตรและมีผมยาวเนื่องจากไม่ได้โกน คณะของบัณฑิตนั้นจึงร่วมมือกับหมิ่นกงซึ่งเป็นคหบดีเจ้าของที่ดินในแถบนั้นสร้างวัดขึ้นถวายแก่ท่าน เมื่อหมิ่นกงแจ้งความประสงค์จะถวายที่ดินตามแต่ท่านต้องการ พระจีจางจึงกล่าวว่าต้องการที่ดินเพียงเท่าผืนผ้ากาสาวพัสตร์ และได้โยนผ้ากาสาวพัสตร์นั้นขึ้นฟ้า ร่มเงาดำของผ้าทั้งผืนแผ่ปกคลุมทั่วภูเขาทั้งลูก หมิ่นกงจึงได้ถวายภูเขาทั้งลูกด้วยความศรัทธา และปวารณาตัวเป็นอุปัฏฐากของพระจีจางนับตั้งแต่นั้น ต่อมาบุตรชายคนหนึ่งของหมิ่นกงซึ่งศรัทธาท่านมากเช่นกันได้ขอบวชชื่อว่า“พระเต้าหมิง”

พระจีจางจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาจิ่งหัวซันจนกระทั่งอายุได้ 99 ปี ท่านจึงเรียกภิกษุทุกรูปมาชุมนุมเพื่ออำลา และได้นั่งบำเพ็ญสมาธิอย่างสงบจนกระทั่งละสังขารในที่สุด สามปีให้หลังจากการละสังขาร สุสานของท่านได้ถูกเปิดออกและพบว่าร่างกายของท่านไม่เน่าเปื่อย คนทั้งหลายจึงเกิดความศรัทธาว่าท่านเป็นชาติหนึ่งของพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

สรีระของพระจีจางที่ไม่เน่าเปื่อยยังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีอยู่ที่วัดซึ่งท่านได้สร้างไว้บนเจ้าจิ่วหัวซันจนถึงทุกวันนี้