บุญของแม่ ที่ได้ช่วยชีวิตปลา

Spread the love

ดิฉันเคยอ่านหนังสือของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านได้กล่าวถึงเรื่องบุญไว้ว่า

บุญ แปลว่า ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ก็คือ กำจัดสิ่งเศร้าหมองที่เรียกว่ากิเลสทั้งหลายออกไป

เริ่มตั้งแต่ทานก็กำจัดความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีใจคับแคบ ตระหนี่หวงแหน ความยึดติดลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของ ทำให้จิตใจเป็นอิสระ พร้อมที่จะก้าวต่อขึ้นไปในคุณความดีอย่างอื่น หรือเปิดช่องให้นำเอาคุณสมบัติอื่นๆ มาใส่เพิ่มแก่ชีวิตได้ ทำให้ชีวิตจิตใจเฟื่องฟูขึ้น

คนที่ทำบุญคือทำความดี จิตใจก็จะเฟื่องฟูขึ้นในคุณงามความดี เพิ่มพูนคุณสมบัติทีดีๆให้แก่ชีวิตจิตใจของตน

ความหมายอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้คือ บุญนั้นเป็นชื่อของความสุข พอทำบุญแล้วจิตใจก็สุขเอิบอิ่มเป็นความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง

การทำบุญเป็นความสุขที่มีผลระยะยาว ไม่เหมือนอาหารที่รับประทาน หรือสิ่งภายนอกที่บำรุงบำเรอกาย พอผ่านไปแล้วก็หมด ก็หาย ความสุขก็สิ้นไป บางทีพอนึกใหม่กลายเป็นทุกข์ เพราะมันไม่มีเสียแล้ว มันขาดไป ต้องหาใหม่

แต่บุญเป็นสุขที่เข้าไปถึงเนื้อตัวของจิตใจ เป็นความสุขที่เต็มอิ่ม ทำให้เกิดปีติในบุญ และเมื่อเราทำไปแล้วมันก็ไม่หมด นึกถึงเมื่อไรก็ใจเอิบอิ่มผ่องใสเรื่อยไป เป็นความสุขที่ยั่งยืนยาวนาน”

ความหมายของบุญคงตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ของดิฉัน สมัยที่ท่านยังเด็กๆ เพราะแม่ได้เล่าให้ฟังอย่างมีความสุขทุกครั้งที่ได้นึกถึง แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 80 ปีแล้วก็ตาม

สมัยนั้นบ้านแม่อยู่ติดคลองหลังวัด คุณตามีอาชีพค้าขายเล็กๆน้อยๆอยู่ที่บ้าน ส่วนคุณยายซึ่งมีฝีมือในการทำขนม ก็ทำกับขนมต่างๆพายเรือไปขาย เพราะตอนนั้นการจราจรทางบกไม่ค่อยสะดวก อาศัยทางน้ำเพียงอย่างเดียว

แม่เป็นลูกสาวคนโตในบรรดาพี่น้อง 3 คน แม่เล่าว่าตอนเล็กๆแม่เป็นเด็กขี้แยขี้อ้อน และก็เป็นลูกรักของคุณตาซึ่งใจดีมากๆ แต่ว่าคุณยายจะดุ ยิ่งแม่ชอบร้องไห้ ก็ยิ่งถูกตี

ในเวลานั้นแถวบ้านแม่ ไม่มีบ้านไหนที่มีลูกเล็กๆวัยเดียวกับแม่ แม่เลยไม่ค่อยมีเพื่อนเล่น คุณตาหัดให้แม่ว่ายน้ำตั้งแต่ 5-6 ขวบ แม่ก็ได้อาศัยเล่นกระโดดน้ำไปวันๆอย่างสนุกสนาน และอีกสถานที่หนึ่งที่แม่ชอบไปเล่นก็คือ แถวๆเจดีย์ที่เก็บกระดูก ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับเมรุเผาศพ

แต่ก็มีบางครั้งที่วัดมีงานรื่นเริง แม่ก็จะเดินไปเที่ยวงานวัด ยิ่งตอนมีงานบวชแม่จะชอบไป เพราะมีโปรยทานด้วย แต่ไม่ได้ไปแย่งกับเขาหรอก รอวิ่งเก็บเหรียญที่ตกกระเด็นไปไกลๆ และก็จะได้เศษสตางค์เล็กๆน้อยๆกลับบ้านทุกครั้ง

วันหนึ่งแม่หอบอุปกรณ์ของเล่นประจำทั้งกะลามะพร้าว ที่สมมติว่าเป็นกระทะ ไม้พายเล็กๆที่ทำเป็นตะหลิว กระป๋องนมข้น และกะละมังสังกะสีใบเล็กๆ เดินไปนั่งเล่นขายของแถวพระเจดีย์เหมือนเคย หลังจากที่ไม่ได้ไปหลายวัน เพราะฝนตกหนักและน้ำท่วมขึ้นมาถึงตรงเจดีย์

เมื่อมาถึง บริเวณนั้นก็ยังไม่แห้งสนิทดี ยังมีน้ำขังตามพื้นดินอยู่หลายแห่ง แต่เมื่อหาที่แห้งๆได้แล้ว แม่ก็ลงมือเล่นขายของทำกับข้าวตามลำพัง ขณะนั้นเองแม่ก็เหลือบไปเห็นปลากระโดดขึ้นมาจากพื้นดินตรงที่เป็นโคลนเละๆ แม่จึงลุกเดินไปดู และก็เห็นปลาตัวเล็กๆหลายสิบตัวอยู่ตรงนั้น กำลังดิ้นรนอยู่ในน้ำที่กำลังแห้งขอด

แม้จะมีวัยเพียง 6 ขวบ แต่แม่ก็รู้สึกสงสารปลาพวกนั้น พยายามจะช่วยมันโดยเอามือไปจับ แต่มือเล็กๆป้อมๆของแม่ก็ไม่สามารถจับได้ แม่นั่งมองปลาอยู่สักพัก แล้วก็เหมือนคิดอะไรออก เธอตะโกนออกมาด้วยความดีใจว่า

“รอแป๊บนึงนะ เดี๋ยวหนูจะมาช่วย”

ว่าแล้วเธอก็รีบเดินไปหยิบของเล่นมา แล้วเอากะลามะพร้าวค่อยๆช้อนปลาขึ้นมาทีละตัว ใส่ลงในกะละมังสังกะสี แล้วค่อยๆเดินไปปล่อยลงในคลอง

“ไปอยู่ในคลองนะจ๊ะปลา หนูจะพาไปเอง”

แม่พูดกับปลา และทำอย่างนี้ร่วม 20 ครั้ง ปลาทั้งหมดจึงได้กลับคืนสู่ลำคลอง และก็ถึงเวลาที่แม่ต้องกลับบ้าน แม่จึงหอบของเล่นกลับบ้านด้วยสีหน้าที่เบิกบานแจ่มใส

เย็นวันนั้น แม่ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับคุณตาคุณยายฟัง คุณตาบอกว่า

“ดีแล้วลูก ที่เราช่วยชีวิตปลาพวกนั้นไว้”

ส่วนยายบอกว่า “เราเกิดเป็นคนได้ เพราะเราทำความดี เราจึงต้องทำความดีเรื่อยไปนะลูก อย่าไปรังแกสัตว์”

แม่ฟังแล้วนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ และยิ้มไม่หุบไปอีกหลายวัน รวมทั้งเลิกเล่นดึงหางเจ้าเหมียวที่บ้านด้วย

แม้ว่าการทำมาหากินของตากับยายจะค่อนข้างฝืดเคือง เพราะมีลูกเพิ่มขึ้น และยายต้องส่งแม่ไปอยู่กับป้าที่อยู่ไม่ไกลกัน แต่แม่ก็ไม่ลำบากอะไรนัก เพราะป้ารักแม่เหมือนลูกแท้ๆ

เมื่อแม่เรียนหนังสือจบชั้น ป.4 ยายก็ให้ออกมาช่วยงานบ้าน และเมื่อโตเป็นสาวสะพรั่ง แม่ก็แต่งงานกับหนุ่มจีนคนหนึ่งที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ หนีความยากจนข้นแค้นจากดินแดนบ้านเกิด มาตั้งรกรากยังเมืองสยาม

คงเป็นโชคดีของแม่ที่แต่งงานแล้วไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะหนุ่มจีนคนนั้นขยันทำมาหากินหาเลี้ยงครอบครัวจนกระทั่งมีฐานะดีขึ้นเรื่อยๆ จนมีลูกทั้งหมด 6 คน และใครๆก็เรียกแม่ว่า “เถ้าแก่เนี้ย”

ขณะที่น้องๆของแม่มีชีวิตลำบากกว่าแม่มาก ต้องดิ้นรนขวนขวายทำมาหากิน กว่าจะสบายบ้างก็เริ่มแก่ชรากันแล้ว

แม่บอกว่าน่าแปลกที่ตั้งแต่วัยเด็กเป็นต้นมา หลังจากที่ช่วยชีวิตปลาในวันนั้น แม่ไม่เคยพบกับความลำบากหรืออดอยากยากเข็ญเลย ทุกวันนี้แม่มีกินมีใช้อย่างสุขสบาย มีลูกๆห้อมล้อมให้ได้ชื่นใจ

น้องสาวดิฉันบอกว่า “เพราะแม่ปล่อยปลาให้มีชีวิต แม่ก็เลยได้ “ปา” มาหาเลี้ยงแม่ไง”

“ปา” ที่เธอบอก หมายถึง “พ่อ” ซึ่งพวกลูกๆ เรียกเป็นภาษาจีนว่า “อาปา”

แม่หัวเราะ ส่วนพี่ๆน้องๆ พูดขึ้นพร้อมกันว่า “คิดได้ไงเนี่ยะ”

เมื่อมาคิดทบทวนดูแล้ว ดิฉันก็พลอยเห็นด้วยกับน้องสาว ว่ากรรมดีที่แม่ทำในครั้งนั้นได้ส่งผลให้แม่มีกินมีใช้ไม่ลำบาก นึกอยากกินอะไรก็ได้กิน

และจากวันนั้นจนถึงวันนี้แม่ตั้งหน้าตั้งตาประกอบบุญกุศลเรื่อยมามิได้ขาด ซึ่งทุกครั้งที่ได้ทำบุญไม่ว่าน้อยหรือใหญ่ แม่จะมีสีหน้าที่เอิบอิ่มผ่องใส นี่คงเป็นผลบุญที่พระพรหมคุณาภรณ์ท่านได้บอกไว้ว่า

“บุคคลนั้นพึงศึกษาบุญ คือเรียนรู้ฝึกทำให้ก้าวหน้าต่อไป อย่าหยุดอยู่แค่บุญที่เราทำอยู่เป็นทุนเท่านั้น บุญจึงจะเกิดผลสมบูรณ์”

ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่มีประสบการณ์จริงเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม เขียนเล่ามาเป็นธรรมทานในการเตือนสติแก่เพื่อนร่วมโลกให้ตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ และตั้งอยู่ในความดีงามตลอดไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2555 โดย ลาวัณย์)