ธรรมเป็นของลำบากมาก โดย หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

Spread the love
hfea595d.jpg

ธรรมเป็นของลำบากมาก
โดย หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ)
ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร 

ธรรมฝ่ายไม่เกิด ไม่ดับทรงมีอิสระเต็มภูมิ ไม่ขึ้นอยู่กับธรรมฝ่ายสังขารเลย ทรงอริยะสัจจะธรรมจริงอยู่ ตามธรรมชาติ มีท่านผู้รู้ตามเป็นจริง หรือไม่ก็ตามทีเถิด

ธรรมฝ่ายไม่เกิด ไม่ดับก็มิได้ทรงอาการขึ้นๆ ลงๆ เลย ทรงธรรมไม่ตาย ไม่แปร ไม่ดับอยู่ตามธรรมชาติแต่ไหนๆ อนัตตาธรรมส่วนนี้ ทรงอนัตตาธรรมลึกซึ้งมากแท้ๆ

ถึงจะลึกซึ้งสักเพียงใดก็ไม่เหลือวิสัยของท่านผู้รู้ไปได้ เพราะพระสติพระปัญญาเต็มภูมิ เหนืออวิชชาตัวโง่ๆ แล้วตัวหลงๆ ก็ว่าจอมพลกิเลสก็ว่าได้ใช้ไม่ผิดอีกละ

มารกิเลสก็ว่าได้ใช้ไม่ผิด ว่าวันยังค่ำก็ไม่ผิดวันยังค่ำ แล้วมารกิเลสจอมอวิชชา ๔ จะรวมพลมาจากประตูใดก็ไม่ได้

ธรรมฝ่ายเกิด ฝ่ายดับทรงสังขารโลก และกองทุกข์นั้นเล่า นี้เล่า ก็เกิดก็ดับตามอิสระอยู่หาได้ประหม่า และระอาใครไม่สืบโลกสืบสังขารอยู่อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างนั้นมันไกล

อย่างนี้คือผู้เขียนคือไตรสังขาร กาย วาจา ใจ นี้ อนัตตาฝ่ายสังขาร มารวมพลกันอยู่อนัตตาใจแล้วไม่ต้องสงสัยให้เสียเวลาเลย (มโนอนัตตาธัมมาอนัตตา) ใจมิใช่ตัวตน ธัมมิใช่ตัวตน

มีอยู่ทุกๆ สูตรในทางตรงและทางอ้อม แต่จะอ้อมสักเพียงใดก็ไม่พ้นมารวมพลที่ตรงๆ นี้คือใจๆ ฯ ในอนัตตลักขณสูตรใช้วิญญาณแทนใจ แปลมาเท่าใดก็ต้องสมมติว่าใจ ฯ อนัตตปริยายสูตรนั้นก็โดยนัย

และก็มีคำถามสอดเข้ามาว่า อนุปาทิเสสนิพพานเล่า มีใจอยู่หรือไม่ มีผู้รู้อยู่หรือไม่ ? หลับตาตอบแบบบ้าๆ บอๆ โง่ๆ เง่าๆ เต่าๆ ตุ่นๆ ว่า ฯ อนุปาทิเสสนิพพานมิใช่ใจ มิใช่ผู้รู้ เหนือใจ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย

ถ้าหมายอยู่ก็พอเหมือนๆ หมุนๆ หมันๆ ฯ และก็อยากถามว่าใจก็ดีผู้รู้ก็ดี เกิดดับเป็นไหม ? หลับตาตอบอย่างพอใจว่า เกิดดับเป็น จัดเข้าในนามธรรมได้ จัดเข้าในสังขารได้อีก

เหตุนี้จึงยืนในที่ต่างว่า “เป็นแต่สักว่ารู้เป็นแต่สักว่าเห็น” เพราะทำลายอัตตวาหุปาทานไปในตัวแล้ว ไตรสิกขาก็รวมพลกันมาในตัวแล้ว

เพราะธรรมแท้ก็ไม่มีมาก ที่มีมาก็เพื่อขยายออกให้สมภูมิ แม้ทางย่นลงมาหาอนัตตาธัมอนัตตาใจก็สมภูมิเหมือนกัน หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ไม่ได้ แต่ก็จัดเป็นกายสังขารอันเดียวกัน

เกิดดับแบบเดียวกันนี้เองหละ สังขารธรรมก็ทรงสังขารธรรม พระนิพพานธรรมก็พระนิพพานธรรม ไม่ได้แข่งดี แข่งชั่วกัน เป็นหน้าที่พระสติพระปัญญา จะรู้เพื่อไม่เลี้ยงความหลงไว้

ถ้าพระสติพระปัญญาแข็งแกร่งเหนือความหลงแล้ว ความหลงก็ตั้งอยู่ไม่ได้ อวิชชาก็คือกองพลความหลงนั้นเอง แต่เป็นภาษาบาลี แปลเป็นไทยก็คือตัวหลง ตัวโง่ๆ นั้นเองนี้หละ ไม่ต้องสงสัยเลยให้เนิ่นช้าก็ได้

ธรรมะของพระพุทธศาสนาจะโยงถึงกันให้หมดก็ได้ ต้องขึ้นอยู่กับพระสติพระปัญญาของแต่ละบุคคลเป็นเกณฑ์ ที่แก่กล้ามาเป็นพลังพละที่เรียกว่า ธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง อันมีในธรรมหมวด ๕ และหมวดน้อยหมวดมาก ก็ตามก็ออกมาจากหมวดใจ

ถ้ารู้เท่าใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็รู้เท่าธรรมโดยสิ้นเชิงทั้งนั้น ถ้าไม่มีอุปทานยึดว่าใจเป็นตัวตนเราเขาสัตว์บุคคล ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นเราเขาสัตว์บุคคลไปในตัว ก็จบปัญหากันไปเท่านั้น

ที่ไม่จบปัญหา ก็เพราะรู้ตามสัญญาความจำได้หมายรู้ เคยหูก็หัดปากว่าไปเหมือนแก้วเจ้าขากินข้าวกับกล้วย กล้วยที่คาปากอยู่ก็ไม่รู้จักชัด แต่สมมติก็จริงตามสมมติ วิมุติก็จริงตามวิมุติ

จะเอาของตื้นและของลึก มาเป็นสงครามกันก็ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นจริงคนละชั้น ธรรมละชั้นไปซะ แต่…สมมุติและวิมุติเป็นของกลางไม่มีใครเป็นเจ้าของก็ตกลง ทรงอนัตตาธรรมตามเป็นจริงของธรรม ไม่เป็นหน้าที่จะไปยึดถือว่าเราเขาขาอะไร

เรื่องของใจเป็นเรื่องลำบาก ถ้าไม่มีใจ ปัญหาก็ไม่มี ถ้ายึดถือว่าใจเป็นตัวตนเราเขาเอาจริงๆ จังๆ แล้ว ความหลงคือกิเลส ก็ผยองตัวเหนียวแน่น ไม่ยอมวางให้ว่างจากสัตว์ จากบุคคล เพราะเหตุใด ?

เพราะพระสติพระปัญญา เขาทรงพระอำนาจอ่อนกว่าความหลง คือ อวิชชา จึงเป็นเหตุให้ชนะความหลงไม่ได้ ถ้าหากว่าพระสติ พระปัญญา เหนืออวิชชาความโง่ๆ หลงๆ ไปแล้ว อวิชชาจอมพลหลงก็ตั้งอยู่ไม่ได้

แต่อย่างไรก็อยู่ในเกณฑ์จะชนะได้แท้ๆ เพราะความสำเร็จอยู่กับความพยายาม เหตุนั้นพระนิพพานจึงไม่เป็นโมฆะ ผู้เชื่อว่าพระนิพพานมีเป็นโลกุตตะระศรัทธา เหนือความเชื่อของผู้อยู่ในขั้นโลกีย์วิสัยไปแล้วตาปัญญากระจ่างเห็นหนทาง ทางใจได้ไม่สุ่มเดาด้นคาดคะเนใดๆ เลย

ปรารภธรรมกับปรารภใจก็อันเดียวกัน ปรารภใจกับปรารภธรรมก็อันเดียวกัน รู้ธรรมกับรู้ใจ รู้ใจกับรู้ธรรม ก็อันเดียวกัน ปฏิบัติใจปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมปฏิบัติใจก็อันเดียวกัน

เคารพธรรมเคารพใจ เคารพใจเคารพธรรม ก็อันเดียวกัน รู้เท่าใจโดยสิ้นเชิง รู้เท่าธรรมจนสิ้นเชิงก็อันเดียวกัน

อดีตก็คือใจ และธรรมที่ล่วงไปแล้ว อนาคตก็คือใจ และธรรมที่ยังไม่มาถึง ปัจจุบันก็คือใจ และธรรมที่กำลังเป็นอยู่ทรงอยู่ ฯ แต่…แต่…พระนิพพานมิได้เป็นเมืองขึ้น ของอดีตปัจจุบัน และอนาคตใดๆ เลย ฯ

ที่เน้นลงในปัจจุบันให้เอาเป็นตัวปฏิบัตินั้น เพราะเหตุให้รู้จักรวมศีลสมาธิปัญญา เป็นสามัคคีกลมกลืนกันลงในปัจจุบันเพ่งพินิจติดต่ออยู่ รวมพลตั้งมั่น และกันความส่งส่ายหา

เพราะจะสงสัยว่าศีลสมาธิปัญญา แตกแยกกันไปคนละเป้า ถ้าเข้าใจว่า ศีลสมาธิปัญญาแตกแยกกันไปอยู่คนละเป้าแล้วก็ปฏิบัติลำบากมาก ไม่เป็นอัญญะมัญญะปัจใจ

แล้วก็จะไปสงสัยว่าเหตุและผลไปอยู่คนละเป้าอีก (เป้าอะไรก็เป้าใจนี้เอง) โอปันะยิโก ก็คือ โอปันนะยิใจนี้เอง เพราะเอาใจในปัจจุบันเป็นศีลสมาธิปัญญา เดินเข้าสู่พระนิพพาน เหตุนั้นจึงมิได้บัญญัติ พระนิพพานว่าเป็นใจ

จึงบัญญัติว่า รูป จิต เจตสิก นิพพาน ดังนี้ จิตต้องเคารพพระนิพพาน ไม่เป็นที่พระนิพพานจะมาเคารพจิต (จิตเป็นทางเดินเข้าสู่นิพพาน) ถ้าเดินไปทางผิดก็ไปสู่นะรก และนะรกก็มีหนักเบาหลายชั้นตามเหตุผลของทางชั่ว

เหตุผลทางดีก็มีหลายชั้น สวรรค์ ๖ ชั้น ชั้นพรหม ๑๖ ชั้น และอรูปพรหม ๔ ชั้นอีก สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเข้าใจทั้งนั้นซินะ พระพุทธศาสนาละเอียดละออมากไม่มีประมาณได้ ไม่เป็นหน้าที่ของลัทธิอื่นจะมาแข่งดีแข่งเด่นเลย เหลือวิสัย ขืนมาแข่งดีแข่งเด่นแล้ว ผลของกรรมเล่าจะว่ายังไงจะมีคอรับชั่นกับใครๆ ก็มีในโลก และนอกโลก

เหตุนี้ผู้เขียนอยู่เดี๋ยวนี้จึงยอมตัวยอมใจเคารพนับถือพระพุทธศาสนา แบบไม่มีประมาณได้ แผ่นดินหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ในทางลึก แต่เคารพรักพระพุทธศาสนาลึกลงไปกว่านั้นอีกไม่มีประมาณ

หมดไตรโลกธาตุหรือหมดไตรจักรวาลไม่มีท่านผู้ใดเคารพเคารพรักปฏิบัติก็ตาม จะเคารพรักปฏิบัติแต่คนเดียว ตามสติกำลังของเจ้าตัว แม้จะตายแล้วเกิดตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย แล้วตายมากกว่าอสงไขย อสงไขยกัปก็ตาม

ก็จะไม่ยอมลดละความเลื่อมใสเคารพรักนับถือปฏิบัติพระพุทธศาสนา ตามสติกำลังของตนของตนอยู่ตราบนั้นทีเดียว อนิจจาเอ๋ย นิจจาเอ๋ยเที่ยงตรงเป็นมหาสัจจะ เป็นมหาอธิษฐาน

ด้วยความยอมเป็นยอมตายแบบนี้แล้ว บางทีผ่อนหนักให้เป็นเบามาทำให้บันดาลให้พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงในชาตินี้ก็อาจเป็นได้ ฯ คล้ายๆ กับพวกเดียรถีร์ยอมตัวกับพระบรมศาสดาว่า จะให้เกล้าอยู่ติดถิยวาส ๔ เดือนจึงจะบวชให้นั้นยังเป็นของน้อย

จะบวชให้นั้นยังเป็นของน้อย ให้เกล้าอยู่ ๔ ปีจึงจะบวชให้เกล้าอยู่ก็พอใจอยู่ ดังนี้ พระบรมศาสดาทรงพระเมตตาว่า เอ้าถ้าใจถึงขนาดนั้นก็บวชเดี๋ยวนี้ก็ได้ดังนี้

นี้เราผู้เขียนอยู่เดี๋ยวจะยอมเป็นยอมตายต่อพระพุทธศาสนามากกว่าอสงไขยอสงไขยกัปป์แล้วก็จะเคารพรักปฏิบัติอยู่อย่างนี้ พระอริยะสัจธรรม และพระอริยะอธิษฐานธรรม ก็จะเมตตาโปรดปราณให้พ้นจากกิเลส โดยสิ้นเชิงในชาตินี้ เป็นชาติสุดท้ายก็อาจเป็นได้ เพราะเจตนายอมเป็นยอมตาเหนือความหลงๆ ไหลๆ ไปแล้ว

และเราอยากจะปรารภไม่ให้ถูกปริยัติได้ไหมล่ะ ตอบไม่ให้ถูกปริยัติไม่ได้ เพราะบัญญัติไว้หมดแล้ว เพราะใจเป็นต้นบัญญัติสิ่งทั้งปวงแล้ว พระสูตรก็สูตรของกาย วาจาใจ

พระปริยัติก็ยัดเข้ากายวาจาใจ ว่าเป็นสอง ก็กายกับใจ ว่าเป็นหนึ่งก็คือใจ ว่าเป็น ๖ ก็ ตา หู จมูก ลิ้น กาย วาจา ใจ ว่าไปไหนก็สมมติบัญญัติอันเก่า นั้นเองคุณพ่อเอ๋ย ไม่ว่าใจก็เป็นผู้ไม่ว่า กิเลสมิได้ตั้งอยู่ ที่ว่า และไม่ว่า ตั้งอยู่ที่ผู้ไปหลงยึดถือ เอาอันว่าไม่ว่านั้นเอง

ส่วนสำคัญว่าตนว่าหรือไม่ว่า นั้นก็ต้องมีพระปัญญาเป็นนายหน้าอีก เรื่องทั้งหลายมันเป็นเรื่องของสังขารและกองทุกข์ทั้งนั้น เกิดๆ ดับๆ อยู่ ตามฝ่ายทุกขะสัจ จิตเกิดดับทำอะไรก็เกิดดับทั้งนั้น ถ้ารู้ชัดว่าเราไม่มีแล้วจะฝืนไปยืนยันเอาที่ใด

………………………………………………

พระไตรปิฎกตำรา 

พระไตรปิฎกจริง ก็คือหนังหุ้มอยู่โดยรอบของผู้เขียนและผู้อ่านและผู้ฟัง ผู้จะปฏิบัติก็คือใจ เป็นหัวหน้าอันมีสติปัญญาควบคุมไปในทางที่ชอบ เพื่อต่อสู้กับราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาลงและเหือดแห้งหายไป

สิ่งใดที่ส่งเสริมต่อเติมให้ราคะ โทสะ โมหะบวกใจเพิ่มเข้า สิ่งนั้นมิใช่คำสอนพระพุทธศาสนา สิ่งใดทำให้ราคะโทสะโมหะให้เบาลงได้เป็นตอนๆ ไป จนถึงเหือดแห้งหายไป ช้าก็ดีเร็วก็ดี ก็เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหลาย

มีความหมายเป็นเกณฑ์อย่างนี้ แม้จะเรียนจบฟังจบพระไตรปิฎกก็ตาม เมื่อกิเลสไม่เบาบางลงบ้างเลย ก็เรียกว่าไม่คุ้มค่า แต่ก็ยังดีเพราะเป็นนิสสัยไปทางดี เป็นสุตตะพระหูสูตร ยังเป็นมงคลอุดมอยู่บ้างในชั้นนี้เพราะมีทุนในทางจำได้ ฯ

………………………………………………

คัดลอกจาก
www.dharma-gateway.com/