“กฎแห่งกรรม” โดยพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ

Spread the love
h141c440.jpg

เรื่องกรรมในทางพุทธศาสนาคำนี้เราได้ยินจนชิน คำนิยามของคำว่ากรรมแท้จริงในทางพุทธศาสนา เราอาจเข้าใจไม่ตรงประเด็นกับที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ จะเห็นอยู่บ่อยๆ ว่าชาวบ้านมีอะไรก็โยนให้แต่เรื่องกรรมไม่ใช้ปัญญา จะเห็นคำนี้ในสังคมคนที่เชื่อมกรรมกลายเป็นชาวบ้าน สำหรับปัญญาชนคำว่ากรรมเป็นเรื่องไร้เหตุผล คำว่า “กรรม” แปลว่า การกระทำ การกระทำทางกายเรียก “กายกรรม” ทางวาจา เรียกว่า “วจีกรรม” ทางใจ เรียกว่า “มโนกรรม” ฉะนั้นเมื่อมีเหตุบางอย่างที่ไม่ดี เราอาจใช้คำศัพท์ว่าเป็นเพราะกรรมแล้วจบกัน ไม่ได้บอกว่ากรรมอะไร ทำเมื่อไหร่ แล้วทำไมจึงมาให้ผลตอนนี้ ในสังคมชาวพุทธของเราคนที่เชื่อกรรมกลายเป็นว่าเป็นคนไม่มีการศึกษา โทษกรรมไปหมด

คำว่า “กรรม” ความหมายจริงๆ คือ การกระทำ ทั้งที่อยู่ในปัจจุบัน อดีต ถ้ากระทำดีเรียก “กุศลกรรม” กระทำไม่ดีเรียก “อกุศลกรรม” ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์อ่านออกเขียนได้รู้ภาษาได้ก็เพราะทำกรรมจึงได้เกิดเป็นคน ได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่ากรรมในทางพุทธศาสนาคนที่จะเชื่อเรื่องกรรมได้ต้องเป็นคนมีปัญญา ไม่ใช่ชาวบ้าน ตาสี ตาสา อย่างที่เราเข้าใจกันว่าเป็นชาวบ้านที่ขาดการศึกษา แต่แท้ที่จริงคนที่จะเชื่อกรรมอย่างถูกต้องกลับเป็นปัญญาชน เพราะพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ” คือ ปัญญาที่เข้าไปรู้เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิไม่มีปัญญารู้ไม่ถึงเรื่องกรรม และกรรมนี้ลึกขนาดไหนซึ่งพระองค์ตรัสอยู่ในประเภท “อจินไตย” คือสิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง นั่นก็คือเรื่องกฎแห่งกรรม ทำไมจึงบอกว่ากรรมเป็นอจินไตยเพราะเราเองก็ไม่สามารถจะไปรู้ได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าเราทำกรรมอะไรไว้ แต่พระพุทธเจ้าทรงสามารถระลึกรู้ย้อนหลังได้หลายภพหลายชาติ พระองค์ทรงรู้ว่าคนนี้ทำกรรมอะไรไว้ถึงได้เกิดเป็นอย่างนี้ อนาคตได้เกิดเป็นอย่างไร เราเองรู้แค่กรรมในชาตินี้ แต่ถ้าใครบางคนระลึกชาติได้ก็จะรู้ว่าอดีตเคยทำกรรมอะไรไว้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีปัญญาจะเข้าไปเชื่อกรรมที่เรียกว่า “กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นถูกต้องหรือปัญญาที่เข้าไปรู้เรื่องกฎแห่งกรรมจึงเป็นสิ่งที่ยากพอสมควร

กรรมคือการกระทำ ทั้งกระทำในอดีตและกรรมในปัจจุบัน กรรมในอดีตที่เราได้เกิดเป็นคนเพราะเคยได้ทำกรรมคือการรักษาศีล ๕ เจตนาคือตัวกรรม เจตนาเป็นสภาวะธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดในใจ ใจของเราเรียกว่าวิญญาณหรือจิต สิ่งที่มาเกิดในจิตเรียกเจตสิก เจตนาก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เช่น ในขณะที่เราตั้งใจรักษาศีล เจตนาคือความตั้งใจ จงใจ ตั้งใจรักษาศีล ๕ กรรมนั้นส่งให้เราเกิดเป็นมนุษย์ ตั้งใจที่จะปฏิบัติสมถะกรรมฐานจนได้ฌานอภิญญาจนได้เกิดเป็นพรหม ตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานบรรลุมรรคผลนิพพานก็ไปสู่นิพพาน เจตนาความจงใจหรือความตั้งใจนั่นแหละเป็นตัวกรรม

ปัจจุบันนี้คนที่จะเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม เมื่อจะเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมได้อย่างน้อยๆ ก็ต้องเคยฟังเทศน์ฟังธรรม ต้องมีโยนิโสมนสิการพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย ทำกรรมใดก็จักได้รับกรรมนั้น ต้องฝึกหมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ จึงจะเข้าใจกฎแห่งกรรม ยกตัวอย่างง่ายๆ บอกว่าเราได้เกิดเป็นคนเพราะผลของกรรมคือการรักษาศีล ทำไมคนจึงรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน ทำไมบางคนรวยบางคนจน บางคนฉลาดบางคนโง่ ซึ่งบางคนรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อบริสุทธิ์เกิดเป็นคนรูปร่างหน้าตาผิวพรรณผุดผ่อง ปัญญาญาณเฉลียวฉลาด อายุยืน ร่างกายแข็งแรง ถ้าศีล ๕ ข้อครบบริสุทธิ์ แต่ถ้าบางคนไม่ครบ ๕ เอาแค่ ๔ ขาดข้อที่ ๕ คือรักษาได้ต่อหน้าพระพอหันหลังรักษาไม่ได้แล้ว เกิดเป็นคนที่มีสติไม่เต็มเพราะศีลข้อที่ ๕ ผิดเป็นนิจ รับศีลได้เฉพาะช่วงนาทีที่อยู่หน้าพระสงฆ์แต่หลังจากนั้นรักษาไม่ได้แล้ว การที่เราสร้างกรรมให้เกิดเป็นคนแล้วอยากเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ศีลทั้ง ๕ ข้อต้องรักษาให้บริสุทธิ์ ถ้าศีลข้อที่ ๑ รักษาได้บริสุทธิ์ทำให้อายุยืนยาวนานร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยป่วยเป็นโรค ผู้ที่คิดทำร้ายเอาชีวิตก็ไม่สามารถทำร้ายได้

ส่วนศีลข้อที่ ๒ ถ้ารักษาเอาไว้ดีศีลข้อนี้จะทำให้เกิดในฐานะที่ร่ำรวย เกิดมาบนกองเงินกองทอง เกิดมาก็รวย รวยมาตั้งแต่เกิด คนอื่นทำไมไม่รวยเพราะรักษาศีลข้อที่ ๒ เอาไว้ไม่ดี บางคนรวยแล้วรักษาทรัพย์ได้บางคนรวยแล้วรักษาทรัพย์ไม่ได้ถามว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะศีลข้อที่ ๒ อีกนั่นแหละ คือ บางคนเกิดมาบนกองเงินกองทองก็จริงแต่ไม่สามารถจะรักษาทรัพย์สินได้ ทำบุญแต่เงินที่ได้มาจากการทุจริตโกงเขามา อย่างสมัยก่อนโจรปล้นมาทำบุญได้บุญ แต่ตอนไปปล้นได้บาป บุญก็ทำมาบาปก็ทำมาส่วนที่ทำบุญทำให้รวยแต่ไม่สามารถรักษาทรัพย์ได้ แต่ถ้าทรัพย์นั้นด้วยปัจจัยบางประการอยู่กับเขานานซึ่งทรัพย์นั้นก็จะเป็นเพียงแค่ยารักษาโรค คือเอาทรัพย์ไปดูแลรักษาชีวิตของตนเองที่จะได้มีความสุขจากทรัพย์สินก็ไม่มี

ศีลข้อที่ ๓ ถ้าเราสร้างกรรมไว้ดีครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวเข้มแข็ง ปัญหาการหย่าร้างไม่มี และที่เป็นชายไม่จริงหญิงไม่แท้นั้นคือเศษกรรมที่ผิดศีลข้อที่ ๓ บางคนเกิดเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง หรือบางคนเกิดเป็นผู้หญิงแต่ใจเป็นชาย ถามว่าทำกรรมอะไรไว้ เศษกรรมจากการผิดศีลข้อที่ ๓ กรรมตัวนี้ถ้าเรารู้จะทำอย่างไร หรือบางคนรูปร่างหน้าตาก็สวยแต่พอมีแฟนเมื่อไหร่อกหักทุกทีถามว่าเป็นอะไร คือเศษกรรมของศีลข้อที่ ๓ เป็นเพียงเศษกรรมมิใช่ต้นกรรม ถ้าต้นกรรมคือลงนรก สิ้นกรรมจากนรกก็เป็นคนผิดเพศเป็นชายไม่จริงเป็นหญิงไม่แท้ หลังจากนั้นเศษกรรมปลายๆ เป็นชายจริงหญิงแท้แต่เรื่องของความรักผิดหวัง แต่ถ้ารักษาศีลสร้างกรรมที่ดีผลกรรมก็คือทำให้มีความสมหวัง ครอบครัวที่มีอยู่ก็มีแต่ความอบอุ่นเป็นครอบครัวที่มีความสุข

ส่วนกรรมอื่นๆ เช่น มุสาวาท ศีลข้อที่ ๔ หนักมากสำหรับผู้ที่ต้องตัดสินวินิจฉัย อย่างเช่น การขึ้นโรงขึ้นศาลตัดสินในทางที่ผิดหรือเป็นพยานเท็จ คนถูกกลายเป็นคนผิดในขณะที่ตัดสินวินิจฉัยในเรื่องคดีต่างๆ คนผิดกลายเป็นคนถูก คนถูกกลายเป็นคนผิดในลักษณะอย่างนี้คือกรรมของศีลข้อที่ ๔ แต่ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วๆ ไป พูดเท็จโกหกก็ผิดศีลแต่ผลกรรมไม่รุนแรงเท่ากับการตัดสินวินิจฉัย อย่างเช่น เราอาจเห็นบางคนฟันห่าง ฟันไม่ติดกัน ฟันผุ นี้คือผลกรรมจากการผิดศีลทั่วๆ ไปที่ไม่รุนแรง แต่ถ้ารุนแรงมากศีลข้อที่ ๔ จะส่งผลเศษกรรมออกมาคือทำให้รูปร่างไม่สมสัดส่วน อ้วนเกิน ผอมเกิน เตี้ยเกิน สูงเกิน อะไรต่างๆ ที่เกินมาทุกสัดส่วนในร่างกายนั่นคือเศษกรรมของศีลข้อที่ ๔ ถ้ารักษาศีลข้อที่ ๔ เอาไว้ดีเกิดมาเป็นคนก็มีรูปร่างสมสัดส่วน ผิวพรรณผุดผ่อง ฟันเรียบ ฟันงามเสมอ ลิ้นบางลิ้นยาวพูดได้ชัด คำพูดมีอำนาจวาสนา เพราะฉะนั้นการรักษาศีลข้อที่ ๔ คือการตั้งใจ เจตนาคือความตั้งใจรักษาศีล ได้รับผลคือไม่ต้องไปดูแลสุขภาพมาก สุขภาพจะดีตามปกติ

ส่วนกรรมอีกข้อหนึ่งที่ทำให้เป็นคนไม่ค่อยสมประกอบ เสียสติขาดสติ เป็นคนไม่ค่อยเต็มก็คือการผิดศีลข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นกรรมที่เรามองเห็นชัดๆ สิ่งที่ได้กับเราคือโทษในปัจจุบันมี ๖ อย่างที่เห็นง่ายที่สุดคือเป็นโรค รองลงมาคือประสบอุบัติเหตุ เสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง ก่อการทะเลาะวิวาท มาจากการกระทำกรรมคือการเสพสุรา ผลกรรมใกล้จะหมดเหลือเศษกรรมเกิดเป็นคน ก็จะเป็นคนสติไม่เต็ม หรือบางคนหนักยิ่งกว่านั้นกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน เห็นอย่างนี้อย่าไปสมน้ำหน้าให้พิจารณาว่าที่เขาเป็นอย่างนี้เพราะผิดศีลข้อที่ ๕ หากเป็นคนปกติก็จะไม่มีปฏิภาณปัญญาไหวพริบไม่มี ถ้าใครรักษาศีลข้อที่ ๕ ไว้ได้ กุศลกรรมทำให้เป็นคนมีปฏิภาณ แต่ถ้าศีลข้อที่ ๕ รักษาไม่ค่อยได้ก็จะเกิดเป็นคนสติปัญญาไม่เฉลียวฉลาด ร่างกายชักช้ายืดยาด อืดอาดจะทำอะไรรู้สึกหนักไปหมดไม่ค่อยจะคล่องตัว นี่คือเศษกรรมของการผิดศีลข้อที่ ๕ ฉะนั้นถ้าเราเป็นคนลักษณะชอบง่วง ไม่อยากทำงาน ชักช้ายืดยาด อืดอาดเฉื่อยชาให้รู้ว่าคือผลจากเศษกรรมข้อที่ ๕ กำลังใกล้จะหมดแล้ว เมื่อใกล้จะหมดแล้วก็อย่าผิดต่อไป อย่าไปเสพสุราต่อไป ตั้งใจรักษาศีล

ฉะนั้นเรื่องกฎแห่งกรรม กรรมในพุทธศาสนา ถ้ากระทำดีทางกายเรียกว่า “กายสุจริต” ถ้ากระทำไม่ดีทางกายเรียกว่า “กายทุจริต” เป็นกรรมทั้งนั้น กระทำดีทางวาจาเรียกว่า “วจีสุจริต” กระทำไม่ดีทางวาจาเรียก “วจีทุจริต” กระทำดีทางใจเรียก “มโนสุจริต” กระทำไม่ดีทางใจเรียก “มโนทุจริต” เพราะฉะนั้นการกระทำนั่นแหละเรียกว่ากรรม ถ้าเราเกิดเป็นคนแล้วเรารู้ว่าชีวิตของเราได้แค่นี้เราจะพัฒนาอย่างไร ในเมื่อเรารู้ว่าเราได้เกิดเป็นคนแต่ความรู้ความสามารถของเราก็แค่นี้ เงินเดือนก็แค่นี้ เราอยากจะพัฒนาให้ไปมากกว่านี้เราจะทำกรรมตัวไหน ก็คือกรรมที่เป็นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ถ้าเราสามารถทำได้เราจะพัฒนาชีวิตของเราได้ทันที ธรรมะของพระพุทธเจ้าในเรื่องกฎแห่งกรรมทุกคนมีหวังถ้าสร้างกรรมที่ดี ถือว่าทุกคนมีบุญที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ แค่การเป็นมนุษย์คือการลงทุนรักษาศีล ถ้าเจตนาในการรักษาศีล ๕ มีแล้ว เพิ่มกุศลกรรมทำอย่างไร ใช้ความเพียรเรียกว่าวิริยะแล้วใช้ปัญญาในการสร้างกรรมดีๆ จะพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่ดีอยู่แล้วให้สมบูรณ์หรือยิ่งขึ้นไปก็ใช้วิริยะ เช่น ความเพียรในการตั้งใจฟังธรรมะบ่อยๆ เมื่อฟังบ่อยๆ เกิดปัญญา ฟังบ่อยๆ ได้เพราะมีวิริยะ บางคนให้ฟังเพลงง่ายกว่าฟังธรรมะยาก เพราะธรรมะไปขัดเกลาจิตใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ใจของมนุษย์เหมือนกับน้ำไหลตกจากที่สูง จิตใจของปุถุชนถ้าเราไม่ยกขึ้นก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำ ถ้าชวนไปฟังเพลงไปเที่ยวชมคอนเสิร์ตจะไปทันทีทั้งๆ ที่ไม่ว่าง ชวนไปฟังเทศน์ทั้งๆ ที่ว่างแต่ขอดูก่อนว่ามีเวลาหรือไม่ การที่จะพัฒนาด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรมโดยการนำธรรมะไปพัฒนาเป็นการฝืนกิเลส เพราะจิตใจของมนุษย์เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นการฝืนเป็นการขัด การที่เรามีวิริยะในการตั้งใจฟังธรรมะ แล้วเมื่อฟังมีปัญญาแล้วก็นำเอาความรู้นั้นไปพัฒนากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็จะประสบความสำเร็จ

ในขณะที่เราฟังนั้นเมื่อก่อนเรายังไม่รู้ว่ากายทุจริตก็เป็นกรรมชนิดหนึ่งหรือกายสุจริตก็เป็นกรรมชนิดหนึ่ง กายทุจริตเราทุจริตในทางโลก เช่น ไปโกงเงินหรืองบประมาณเราคิดว่าทุจริตมีแค่นี้ จริงๆ ฆ่าสัตว์ก็เป็นทุจริต เพราะชาวโลกปัจจุบันพูดถึงทุจริตก็นึกถึงการโกงการคอรัปชั่นต่างๆ แต่ในทางพุทธศาสนาฆ่าสัตว์ก็เป็นทุจริต เพราะคำว่า “ทุจริต” แปลว่า ประพฤติไม่ดี ทางกายการฆ่าสัตว์ก็เป็นทุจริตทางกาย การลักทรัพย์ก็เป็นทุจริตทางกายอีกเหมือนกัน ประพฤติผิดในกามก็เป็นทุจริตทางกาย แต่พอพูดถึงทุจริตเราจะนึกถึงแต่การโกงนั่นคือความรู้สึกของเรา ถ้าเราไม่ประพฤติทุจริตแสดงว่าเราสุจริต เราไม่ฆ่าสัตว์ก็คือเราทำบุญเป็นกุศลกรรมที่ทำให้เราอายุยืน การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเป็นเหตุให้เรามีอายุยืนทำให้สังคมและโลกเกิดความสงบเกิดความสันติสุข ถ้าเรามีปัญญาระดับนี้เรียกว่าเราเข้าใจในเรื่องกายสุจริตแล้ว กายทุจริตเราไม่ทำเข้าถึงกายสุจริตทั้ง ๓ ทางวาจา เช่น เราพูดเท็จให้การเท็จก็เป็นทุจริตทางวาจา บางครั้งเราไม่พูดก็เป็นทุจริตเหมือนกัน ทุจริตทางวาจาบางครั้งเราคิดว่าต้องพูดอย่างเดียว บางครั้งไม่พูดเลยก็เป็นทุจริตทางวาจาได้ เป็นได้เพราะมีเรื่องที่ต้องให้ตัดสิน ถามว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าไม่จริงก็พูดมาถ้าจริงก็ให้นิ่งเฉย จริงก็ไม่บอกไม่จริงก็ไม่บอกนั่งนิ่งเฉย ก็เกิดทุจริตโดยไม่ได้พูดนั่งนิ่งเฉย โกหกโดยที่ไม่ได้พูดไม่ได้จา วจีทุจริตอย่าคิดว่าจะต้องเปล่งวาจา

การพูดเท็จส่อเสียดให้สังคมแตกแยกกันซึ่งปัจจุบันนี้เรามองหาความสมานฉันท์ แต่คำพูดจาทุกอย่างที่เปล่งออกไปก่อแต่ให้เกิดความแตกแยก แล้วเราจะมองหาความสมานฉันท์กันได้อย่างไร ซึ่งการอยู่ในสังคมถ้าเราไม่อยากเสียมิตรหรือไม่อยากให้เกิดการแตกแยกให้ระวังที่สุดที่คำพูด ซึ่งมีบทกลอนไว้ว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังยั้งความคิด อยู่ร่วมมิตรให้ระวังยั้งคำขาน อยู่ร่วมราษฎร์ให้ระวังยั้งทำการ อยู่ร่วมคนพาลให้ระวังยั้งทุกอย่างเอย” คนที่อยู่คนเดียวไม่มีอะไรทำความคิดจะเตลิดทางไหนบ้าง เช่น กามวิตกคิดเรื่องกามคุณอารมณ์ พยาบาทวิตกคิดปองร้าย วิหิงสาวิตกคิดเบียดเบียนผู้อื่น ฉะนั้นถ้าอยู่คนเดียวไม่มีอะไรทำความคิดจะเตลิดต้องระวังความคิด ถ้าไม่มีอะไรทำก็ให้หางานสักอย่างหรือเดินสวดแผ่เมตตา กุศลวิตกความคิดต่างๆ กุศลกรรมที่ดีก็จะเข้ามา

การอยู่ร่วมมิตรให้ระวังที่ปากให้ดี เสียเพื่อนเพราะอะไรเสียเพราะปากสาเหตุเพราะไม่สำรวมระวัง บางครั้งคิดว่ารู้จักกันดีพูดแหย่ได้ทุกวันแต่วันนี้เพื่อนอารมณ์เสียมาเราก็ไม่รู้พูดแหย่เหมือนเดิม เกิดเป็นฟืนเป็นไฟทะเลาะกันเลิกคบกันเพราะเราเองไม่ระวังปาก เพราะฉะนั้นเสียเพื่อนเสียง่ายเพราะปาก สังคมที่เกิดการแตกแยกก็เพราะปาก ฉะนั้นสำรวมปากเป็นดีที่สุด อย่างสังคมบ้านเราที่กำลังมีปัญหาถ้าทุกคนหยุดวจีทุจริต ๔ เลิกพูดเท็จ เลิกพูดส่อเสียดให้แตกแยก เลิกพูดคำหยาบ เลิกพูดสิ่งที่ไร้สาระ ทุกอย่างหยุดได้ทันที ต้องหยุดที่ตัวเราเองก่อน เรานั่นแหละต้องเป็นคนหยุดคนแรก ถ้าเราหยุดแล้วคนที่สองก็จะหยุดตามคนที่สามก็จะหยุดตาม เรียกว่าวจีสุจริตเป็นการสร้างกรรมด้วย ใครอยากสร้างกรรมดีในทางวาจา คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดแต่สิ่งที่จริง พูดแต่คำให้สมัครสมานสามัคคี พูดแต่คำไพเราะ พูดแต่สิ่งที่มีสาระ ถ้าทำได้ในชาติปัจจุบันจะมีวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์ บางคนพูดประโยคเดียวคนทั้งโลกฟังถามว่าทำไมจึงฟังเพราะเขารักษาวจีสุจริตเอาไว้ดี

อีกตัวอย่างที่สุโขทัยพระร่วงวาจาศักดิ์สิทธิ์เพราะท่านรักษาวจีสุจริต ๔ เอาไว้ดี ถ้าเราสอนลูกสอนหลานแล้วไม่เชื่อฟัง นั่นเพราะพ่อแม่ไม่รักษาวจีสุจริต ๔ ถ้ารักษาไว้ดีพูดคำเดียวลูกทุกคนเชื่อฟัง ฉะนั้นคนที่มีอำนาจวาสนาในเรื่องของการพูดจา เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสียงของท่านจะประกอบด้วยองค์ ๘ คือ เสียงไพเราะ ก้อง เสนาะกังวาน ฟังแล้วจับจิตจับใจ ฟังแล้วอยากฟังอีก เป็นเสียงที่มีอำนาจวาสนาคนฟังแล้วหายทุกข์คลายทุกข์ เพราะรักษาวจีสุจริต ๔ กระทำกรรมคือการรักษาวจีสุจริต ๔ เสียงจะมีอำนาจวาสนาขึ้นมาทันที พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารักษาวจีสุจริต ๔ ดี เวลาพระองค์เทศน์บนสวรรค์สามารถเทศน์ติดต่อกัน ๓ เดือนโดยที่ไม่หยุด พระองค์จะเปล่งเสียงจากพระนาภีเสียงจะไม่ตก เสียงไม่แหบ เสียงไม่แห้ง เสียงก้อง เสียงกังวาน การที่เราสร้างกรรมโดยการรักษาวจีสุจริต ๔ คือ การสร้างอำนาจให้ทางวาจาทางเสียงของเรา เป็นการสร้างกรรมในทางที่ดี โดยเฉพาะใครที่รักษาวจีสุจริตไว้ได้ดีริมฝีปากจะเรียบเสมอมีสีแดงสุกเหมือนตำลึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชายก็จริงแต่ริมพระโอษฐ์ของพระองค์แดงเหมือนผลตำลึงสุกและจะปิดแนบสนิท พระทนต์ชิดสนิทกันหมดเรียบสนิท แล้วพระสุรเสียงที่เปล่งออกมาไพเราะชัดถ้อยชัดคำ ถ้าวจีทุจริตอย่างเด็กบางคนฟันผุตั้งแต่ฟันน้ำนมจนถึงฟันแท้ต้องใส่ฟันเทียมตั้งแต่เป็นเด็ก ถามว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะไม่รักษาวจีสุจริต ๔ เป็นคนที่มีวจีทุจริต เด็กบางคนลิ้นสั้น พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด เกิดจาก ๒ ประการ ๑)เศษกรรมของวจีทุจริต ๒)ชอบไปล้อเลียนคนอื่น เป็นกรรมที่เกิดจากการล้อเลียนผู้อื่น

ส่วน มโนกรรม ถามว่าคิดทางใจเป็นกรรมหรือ คิดเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่นโดยทางไม่ชอบ หรือคิดในเรื่องของกามคุณอารมณ์ ทรัพย์สินของใครเขาก็ต้องหวง แต่บางคนอยากได้ของคนอื่นเพียงแค่คิดก็เป็นมโนกรรม การที่จะทำอะไรต่างๆ บางคนเก็บไว้ในใจก่อนเก็บไว้ในใจก็เป็นมโนกรรมแล้วพอมีพลังก็จะเปล่งออกมา ทางวาจา พอมีพลังมากขึ้นก็จะแสดงออกทางกาย มโนกรรมเป็นผลแต่ผลไม่ร้ายแรงเหมือนกายกรรม วจีกรรม ที่สื่อออกมา ฉะนั้นมโนกรรมถ้าคิดในสิ่งที่ดีเรียก มโนสุจริต ถ้าคิดในสิ่งที่ไม่ดีเรียก มโนทุจริต คิดในสิ่งที่ดีคือคิดไม่อยากได้ของคนอื่นในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่คิดพยาบาทผู้อื่น คิดไม่ปองร้ายผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นมโนสุจริตคิดในทางที่ถูก คิดมโนสุจริตคืออย่าคิดเอาของคนอื่นในทางที่ไม่ชอบ อย่าไปคิดเบียดเบียนผู้อื่น อย่าไปคิดพยาบาทผู้อื่น ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้มโนกรรมกรรมก็จะไม่เกิดกับเรา ถ้าเราเผลอมโนกรรมก็มีทางแก้ไข เช่น เราคิดผิดต่อพระรัตนตรัยก็มีพิธีกรรมขอขมาพระรัตนตรัย หรือบางครั้งเราคิดผิดต่อพระอรหันต์ซึ่งเรามองว่าท่านมีพฤติกรรมไม่เรียบ ร้อยจะส่งผลต่อเราหากแม้จะปฏิบัติวิปัสสนาก็จะทำให้ลำดับญาณไม่เกิดขึ้น จุดไหนสำคัญที่สุด จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดคือมโนกรรม “ธรรมทั้งหลายมีธรรมเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจไม่ดีพูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม คิดอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมติดตามเขาเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค”

เวลาแสดงธรรมพระชอบนำภาษาบาลีมากล่าว หลายคนบอกว่าท่านจะเอาบาลีมาได้หรือไม่ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง จะบอกว่าภาษาบาลีมีพลังถ้าฟังด้วยภาษาไทยไม่มีวันได้บรรรลุ ฟังเข้าใจเกิดแค่ “สุตมยปัญญา” แต่ถ้าฟังภาษาบาลีเข้าใจทำให้เกิด “จินตามยปัญญา” และ “ภาวนามยปัญญา” คือ ฟังแล้วได้บรรลุ ภาษาไทยที่ฟังเข้าใจแล้วไม่ได้บรรลุเพราะเกิดแค่สุตมยปัญญา แต่ฟังด้วยภาษาบาลีได้บรรลุเพราะทุกคำในภาษาบาลีพอแปลออกแล้วสามารถบอกองค์ธรรมสภาวะธรรมได้ทุกคำ ฉะนั้นในสมัยพุทธกาลพอเทศน์จบผู้ฟังก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล โสดาบัน เป็นต้น เพราะการฟัง ภาษาบาลีนี้ในขณะที่ฟังผู้ฟังเกิดสุตมยปัญญารู้เห็นในขณะฟังสมัยก่อนฟังแล้วจึงได้เป็นพระอริยบุคคล ถ้าเป็นภาษาไทยก็ต้องขยายอธิบายเพิ่มเติมเป็นขั้นๆ ฉะนั้นแต่ะคำในภาษาบาลีทำให้ผู้ฟังที่เข้าใจได้เกิดสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ฟังภาษาบาลีไม่เข้าใจก็ขอให้ตั้งใจฟังเฉยๆ อย่าบอกว่าฟังแล้วไม่รู้เรื่อง จริงๆ มีประโยชน์มากแต่เรายังไม่เข้าถึงเท่านั้นเอง เรื่องของการฟังเทศน์ฟังธรรมบางครั้งมีพระสงฆ์ท่านนำภาษาบาลีซึ่งเป็นพุทธพจน์มากล่าวเผื่อญาติโยมจะได้นำเป็นปัจจัยในมนุษย์ พอไปเกิดเป็นเทวดาฟังแล้วเข้าใจได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลก็เป็นได้ ขนาดค้างคาวซึ่งอยู่ในถ้ำฟังพระสวดอภิธรรมแบบไม่เข้าใจ ต่อมาเสียชีวิต ๕๐๐ ตัว ไปเกิดเป็นเทพบุตรทั้งหมด เราเองเป็นมนุษย์รู้ว่าพระสวดภาษาบาลีแต่เราแปลไม่ออกเท่านั้นเอง วันไหนเราแปลออกหรือพระแปลให้เราฟังก็จะได้ทั้งอรรถรส ธรรมรส และเข้าถึงวิมุตติรส เพราะการฟังธรรมะต้องได้รสทั้ง ๑๐ อย่าง ศฤงคารรส กรุณรส วีรรส หัสสรส รุทธรส ภยานกรส พีภัจภรส อัพภูตรส ศานติรสและเกิดวิมุตติรส ในสมัยพระพุทธจ้าทุกคำที่สื่อออกไปทำให้ผู้ฟังได้รับรสของธรรมะทั้ง ๑๐ ประการ

ที่มา www.krisdika.go.th/wps/portal/general/!u…krisdika/koadhengkam